Kledthai.com

ตะกร้า 0

คนไทย/คนอื่น (ปกอ่อน)

ISBN: 9786167667577

ผู้แต่ง : ธงชัย วินิจจะกูล

ผู้แปล : -

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน

ปีที่พิมพ์ : 2560

จำนวนหน้า : -

ซีรี่ส์:
-
พร้อมส่ง
ISBN:
9786167667577
ราคาพิเศษ ฿270.00 ราคาปรกติ ฿300.00

คำนำสำนักพิมพ์

คำถามว่า   “เราคือใคร ?”   ดูจะเป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ตอบยากเป็นอันดับต้น ๆ   โดยเฉพาะเมื่อ   “เรา”   ในที่นี้หมายถึงตัวตนรวมหมู่ มิใช่เพียงตัวตนเชิงปัจเจก   ส่วนใหญ่แล้วเรารับเอาตัวตนรวมหมู่มาเป็นองค์ประกอบตัวตนของเราโดยแทบไม่รู้ตัว  หรือกว่าจะรู้ตัวอีกที  ก็อาจกลายเป็นว่าเราได้กลายเป็นร่างทรงของตัวตนชนิดนี้ที่มีส่วนในการก่อความรุนแรงไปเสียแล้ว

ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ยกย่องชนชั้นนำในประวัติศาสตร์อย่างไม่ลืมหูลืมตา เป็นคนไทยที่หากไม่เกลียดชังก็ดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคนกรุงที่มองตัวเองสูงส่งดูถูกกีดกันสิทธิของคนบ้านนอก เป็นนักชาตินิยมที่ต้องการทวงคืนดินแดนทุกตารางนิ้ว เป็นคนที่ไม่ตะขิดตะขวงใจกับการเรียกขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานีว่าโจรใต้ เป็นพุทธแท้หรือเป็นคนคลั่งไคล้เจ้า หนังสือ คนไทย/คนอื่น : ว่าด้วยคนอื่นของความเป็นไทย เล่มนี้จะชักนำให้เราต้องทบทวนตัวตนพวกนี้ใหม่หมด เพราะแต่ละบทจะค่อยๆ ชำแหละให้เห็นว่าตัวตนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นอย่างไร

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสี่ภาค ได้แก่ ภาค 1 คนอื่นผู้ต่ำต้อย คนอื่นผู้สูงส่ง, ภาค 2 ปัตตานี : คนอื่นของไทย, ภาค 3 ข้างบ้านที่ไม่ใช่เพื่อน, และภาค 4 คนอื่นของความเป็นไทย ผู้อ่านอาจเปิดไปอ่านบทใดก่อนก็ได้แล้วแต่ความสนใจ เพราะแต่ละบทผู้เขียนเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง หรือหากเลือกอ่านเรียงไปทีละบทจะพบว่าทุกบทร้อยเรียงกันด้วยแก่นหรือแกนเดียว คือมโนทัศน์ Orientalism, ความเป็นไทย, และความเป็นอื่น แตกต่างกันเพียงประเด็นหรือรายละเอียดที่นำมาวิเคราะห์วิจารณ์

นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังอาจมองได้ว่าเป็นส่วนขยายหรือส่วนเติมเต็มของหนังสือเล่มสำคัญของผู้เขียนคือ Siam Mapped (1994) อีกด้วย โดยเฉพาะภาคที่ 1 ซึ่งทำให้เรามีความเข้าใจอันกระจ่างชัดขึ้นว่าในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชาธิราชมาเป็นรัฐชาติแบบใหม่ นอกจากแผนที่และความรู้ภูมิศาสตร์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสร้างภูมิกายาของสยามแล้ว วิทยาการอีกอย่างคือชาติพันธุ์นิพนธ์และวาทกรรมศิวิไลซ์นั่นเองที่ชนชั้นนำฉวยใช้ทั้งเพื่อทำความเข้าใจว่าตัวเองคือใครในระเบียบโลกใหม่และเพื่อจำแนกแยกแยะจัดวางช่วงชั้นสถานะของกลุ่มชนต่างๆ เสียใหม่ในภูมิกายาที่เพิ่งสร้าง

ส่วนภาค 2 เมื่อผู้เขียนขยับไปอภิปรายถึงปัตตานี ในฐานะคนอื่นของตัวตนไทยที่เป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังถึงปัจจุบัน คำอธิบายของผู้เขียนเกี่ยวกับตรรกะทางภูมิศาสตร์ที่ผิดฝาผิดตัวในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ปาตานีแปลกแยกไม่ลงรอยหรือจำเป็นต้องกลายเป็นประวัติศาสตร์สวนทางของประวัติศาสตร์แห่งชาตินั้น ในแง่หนึ่งก็มองได้ว่าเป็นการต่อยอดทางความคิดของผู้เขียนจาก Siam Mapped นั่นเอง

หลังจากเข้าใจการก่อร่างสร้างตัวตน/คนอื่นในภาค 1 และพิจารณาก้อนกรวดในรองเท้าในภาค 2 แล้ว ผู้เขียนก็ชักชวนให้เราขยายกรอบการมองไปยังเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาค 3 กับภาค 4 จึงเป็นทั้งการมองออกไปข้างนอกและเป็นบทสรุปส่งท้าย เช่นเคย มุมมองของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นมรดกความรู้แบบจักรวรรดิของอธิราชสยาม สำหรับผู้สนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สองภาคนี้ถือว่ามีความสำคัญเพราะผู้เขียนได้อภิปรายเกี่ยวกับภูมิทัศน์และสาแหรกของความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาอย่างกว้างขวางและค่อนข้างครอบคลุม รวมถึงเสนอว่าจะข้ามให้พ้นประวัติศาสตร์อันตรายหรือประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ครอบงำชีวิตเราได้ ต้องสร้างวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์วิจารณ์ที่อนุญาตให้ประวัติศาสตร์ทุกชนิดทุกแบบแบกันออกมาได้ ถกเถียงโต้แย้งกันได้ อาเซียนจึงจะเป็นประชาคมที่เข้มแข็งเปิดกว้าง มีความเป็นมนุษย์ มิใช่ประชาคมทางธุรกิจการลงทุนอย่างเดียว

ในห้วงยามที่หลายคนได้แต่ถอนหายใจแล้วรำพึงว่า อย่าว่าแต่อนาคตของประชาคมใหม่หมาดอย่างอาเซียนเลย แค่อนาคตของรัฐชาติไทยจะไปอย่างไรต่อก็ยังมองไม่ออก เราน่าจะลองย้อนกลับไปพิจารณาภาพอุปมาชวนหัวซึ่งผู้เขียนใช้ในการบรรยายสำนึกอย่างใหม่ต่อพื้นพิภพหรือระเบียบโลกใหม่ของชนชั้นนำสมัยพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ชนชั้นนำคิดว่าพวกตนกำลังนั่งรถไฟมุ่งสู่ความศิวิไลซ์ ไม่ใช่นั่งอยู่กับราษฎรบนเรือลอยแห่งประเพณีเดิม แต่ทว่าความจริงอันปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ชนชั้นนำชาวกรุงเป็นเพียงเรือโยงที่ยังพ่่วงลากเอาเรือใหญ่บรรทุก ‘คนอื่น’ ในผืนดินตน จนเต็มลำไปด้วย

เมื่อเปรียบเทียบภาพอุปมานี้กับภาพข่าวต่างๆ ในปัจจุบัน น่าสนใจว่าภาพเสนอของชนชั้นนำ ชาวป่า ชาวบ้านนอก คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ และประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าคนอื่นของตัวตนไทยมิได้หยุดนิ่งรอถูกให้ความหมายโดยเกณฑ์กำหนดของชนชั้นนำเท่านั้น พวกเขาเองก็เป็นผู้กระทำการและบางครั้งก็สร้างวาทกรรมสวนกลับได้เหมือนกัน

ณ ตอนนี้ ชนชั้นนำประทับพาหนะอะไร กำลังนึกคิดอะไรอยู่ ถึงพอจินตนาการได้จากภาพข่าวที่หลุดรอดออกมา แต่ก็คงไม่มีใครกล้าบรรยายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ชาวป่าดูจะมิใช่คนอื่นที่ “ป่าเถื่อน” อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นกลุ่มชนที่ถูกแย่งชิงทรัพยากรอย่างหนักหนาสาหัส ขณะที่ก็ถูกนำเสนอว่าได้รับมหากรุณาธิคุณมากเป็นลำดับต้นๆ ในรัชสมัยที่ผ่านมาผ่านโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ส่วนชาวบ้านนอกเดี๋ยวนี้ก็ดูจะไม่ใช่คนอื่นผู้ว่าง่ายอีกต่อไป ในมุมมองของชนชั้นนำ พวกเขากลายเป็นพวกเลี้ยงไม่เชื่องที่ติดเชื้อนโยบายประชานิยมของนักการเมืองชั่ว คนเมืองที่สำคัญตน (ผิดๆ) มาตลอดว่ามีอภิสิทธิ์พูดแทนคนทั้งประเทศ ตอนนี้ถูกคนบ้านนอกเสื้อแดงตอกหน้าด้วยวาทกรรมสวนกลับอย่าง “สลิ่ม” ซึ่งเป็นคำที่มีนัยแสดงความดูถูก หมายถึง บุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญาหรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่ากลับไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ คนสามจังหวัดชายแดนใต้นอกจากเป็นคนอื่นที่เป็นแขกมุสลิมแล้ว ยังเป็น “โจรใต้” ในสายตาคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เหตุการณ์รุนแรงที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังเกิดขึ้นสม่ำเสมอและมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายขยายออกนอกพื้นที่ ดังเหตุระเบิดหลายจุดในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ฟากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าที่คนไทยเห็นว่าเป็นศัตรูคู่แข่งและลึกๆ รู้สึกสมน้ำหน้าที่ตกอยู่ใต้เผด็จการทหารอย่างยาวนาน มาบัดนี้กลับกลายเป็นฝ่ายที่ได้แสดงความห่วงใยประชาธิปไตยไทย ส่วนลาวน้องที่น่าสงสารก็เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าจีน-ลาวด้วยความหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล (ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยแสดงความเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย หากเป็นไปได้ควรทำให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน) เขมรดูจะยังเป็น “เขมรแปรพักตร์” ในสายตาของชนชั้นนำไทยโทษฐานที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับทักษิณ ชินวัตร นักการเมือง “เลว” ที่ถูกสร้างภาพให้เป็นคู่ตรงข้ามกับเผด็จการทหาร “ดีๆ” ที่ยึดอำนาจด้วยข้ออ้างว่าจะคืนความสุขให้กับ “คนไทย” ณ จุดนี้ หลายคนย่อมเกิดคำถามในใจอย่างช่วยไม่ได้ว่า “คนไทย” ที่คาดว่าจะได้รับความสุขคืนมานั้น หมายรวมถึง “ตัวเรา” ด้วยจริงๆ ล่ะหรือ

ในระเบียบโลกใหม่ล่าสุด (อย่างน้อยก็ใหม่กว่าระเบียบโลกที่ว่าใหม่แล้วในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง) ที่บางคนเรียกว่า “โลกาภิวัตน์” บางคนเรียกว่า “หลังสมัยใหม่” ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ฉับไวเพียงปลายนิ้วคลิกและระบบ social network ที่เชื่อมโยงกันดุจใยแมงมุมยักษ์ ผู้ที่อยู่ตรงโซนรอยต่อของการส่งผ่านข้ามวัฒนธรรมกลับกลายเป็นใครก็ได้ ไม่จำกัดอยู่ที่ชนชั้นนำอีกต่อไป ภาพอุปมาที่อาจจะใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันคือ

ชนชั้นนำเลิกคิดแล้วว่าความศิวิไลซ์หมายความว่าอย่างไร พวกเขาใช้กฎหมายป่าเถื่อนปราบให้ราษฎรนั่งนิ่งๆ อยู่บนรถรางคันเดิมที่พวกเขาทาสีภายนอกให้ใหม่ทุกสิบปี ทว่าความเป็นจริงอันปฏิเสธไม่ได้ก็คือราษฎรบนรถรางคันเก่าคร่ำซึ่งมองออกไปเห็นโลกกว้างใหญ่ผ่านอินเตอร์เนทความเร็วสูง เริ่มไม่สะดวกใจที่จะนั่งเซื่องๆ ให้ชนชั้นนำลากจูงไปอย่างไร้ทิศทาง สมองน้อยๆ ของพวกเขากำลังเริ่มคิดออกแล้วว่าภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่า…ศิวิไลซ์

หมายเหตุ
1. การใช้ ค.ศ. พ.ศ. และ ร.ศ. หนังสือเล่มนี้ใช้ทั้งสามแบบ กล่าวคือ ใช้ พ.ศ. เป็นส่วนใหญ่เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเป็นหลัก ใช้ ค.ศ. เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงใช้การนับทศวรรษแบบคริสต์ทศวรรษ และใช้ ร.ศ. เมื่อกล่าวถึงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
2. คำศัพท์บางคำ เช่น ethnography ใช้คำว่า ชาติพันธุ์นิพนธ์ ในบทที่ 1 และ 5 ซึ่งเป็นบทแปลล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในหนังสือเล่มนี้ ขณะที่บทความที่เคยตีพิมพ์แล้วเช่นบทที่ 2 ใช้ว่า ชาติพันธุ์วรรณา โดยมิได้ปรับเปลี่ยนให้เหมือนกับบทความแปลล่าสุด ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของกองบรรณาธิการที่จะคงความแตกต่างดังกล่าวไว้เพื่อให้เห็นพลวัตของการบัญญัติศัพท์ทางวิชาการ คำอื่นๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้/อุษาคเนย์ ก็เช่นกัน
3. สำหรับบทความแปลทั้งบทที่ 1 และบทที่ 5 กองบรรณาธิการขอขอบคุณอาจารย์ธงชัยที่ช่วยตรวจแก้ต้นฉบับแปลทั้งสองบทอย่างละเอียดลออด้วยตัวเอง

ภาค 1   คนอื่นผู้ตํ่าต้อย คนอื่นผู้สูงส่ง

บทที่ 1

  • “คนอื่น” ในผืนดินตน

บทที่ 2

  • ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์

ภาค 2   ปัตตานี : คนอื่นของไทย

บทที่ 3

  • เรื่องเล่าจากชายแดน

บทที่ 4

  • ประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย : อันตรายของลัทธิชาตินิยมไทย

ภาค 3   ข้างบ้านที่ไม่ใช่เพื่อน

บทที่ 5

  • ข้ามพรมแดน : ภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในประเทศไทย

บทที่ 6

  • ไทยรักพม่า

ภาค 4   คนอื่นของความเป็นไทย

บทที่ 7

  • ประวัติศาสตร์อันตรายในอุษาคเนย์

ภาคผนวก 

  •  Seminar—Orientalism

 

เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:คนไทย/คนอื่น (ปกอ่อน)
คะแนนของคุณ