อ่านวิพากษ์ มิเชล ฟูโกต์
ISBN: 9789743159107
ผู้แต่ง : ธเนศ วงศ์ยานนาวา, อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง, ธงชัย วินิจจะกูล, สามชาย ศรีสันต์, จุฬารัต ผดุงชีวิต, สลิสา ยุกตะนันทน์
ผู้แปล : อนุสรณ์ อุณโณ, จันทนี เจริญศรี, สลิสา ยุกตะนันทน์
สำนักพิมพ์ : ศยามปัญญา
ปีที่พิมพ์ : 2558
จำนวนหน้า : 316
การ “อ่าน” ฟูโกต์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะ “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์อย่างไรยิ่งเป็นสิ่งท้าทายใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดของฟูโกต์มีขอบเขตกว้างขวาง และมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในตัว หากทว่าปัจจุบันมีงาน “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์อยู่เป็นจำนวนมาก งานเหล่านี้ ครอบคลุมประเด็นที่แตกต่างหลากหลายและมีวิธี “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์แตกต่างกันออกไป นับประสาอะไรกับ บทความจำนวน 6 ชิ้นที่รวมกันอยู่ ณ ที่นี้ ที่จะเสนอตัวเป็น การ “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์อย่างครบถ้วนกระบวนความ ทว่าในทางกลับกัน การ “อ่าน” ฟูโกต์อย่างเชื่องเชื่อ ก็ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์ เพราะนอกจากจะขับเจตนารมณ์ของ ฟูโกต์ที่มุ่งสั่นคลอนหรือรื้อถอนการสถาปนาและการผูกขาด ความรู้ทุกประเภท ซึ่งไม่น่าจะเว้นแม้กระทั่งความรู้ของเขาเอง ยังเป็นเพราะความงอกเงยทางสติปัญญาจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่ง ก็โดยอาศัยการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์
“I don’t write a book so that it will be the final word;
I write a book so that other books are possible,
Not necessarily written by me.”
Michel Foucault
มิเชล ฟูโกต์ เป็นนักคิดที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปะ หรือแม้กระทั่งวงการแพทย์ ทั้งนี้ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะงานเขียนของฟูโกต์มีประเด็นที่พาดผ่านแขนง “วิชา” ที่หลากหลาย โดยมีใจกลางอยู่ที่ถอดรื้อ “ความรู้” เพื่อเปลือยให้เห็น “อำนาจ” ที่แฝงฝังอยู่กับความรู้ทั้งหลาย
อย่างไรก็ดี แม้แนวคิดของฟูโกต์ จะปรากฏในศาสตร์หลายแขนง และถูกนำเข้ามายังสังคมไทยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 หากแต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา งานเขียนเกี่ยวกับฟูโกต์ ในโลกภาษาไทยกลับปรากฎไม่มากนักเมื่อเทียบกับการนำไปใช้ทั้งในงานศึกษาวิจัยและบทสนทนาในวงวิชาการโดยเฉพาะงานเขียนที่มุ่งทำความเข้าใจรากฐานความคิดและวิพากษ์ความคิดของมิเชล ฟูโกต์
อ่านวิพากษ์ มิเชล ฟูโกต์ ที่ท่านผู้อ่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ เป็นหนังสือรวมบทความจำนวน 6 ชิ้นที่มุ่งเน้นทำความเข้าใจกระแสธารความคิดที่ส่งอิทธิพลต่อผลงานของฟูโกต์ รวมถึงข้อวิพากษ์ที่มีต่อแนวคิดของฟูโกต์ ซึ่งในมุมหนึ่งอาจเปรียบได้กับการชำแหละสารัตถะและความรู้ที่ฟูโกต์สรรสร้างขึ้น ทั้งนี้แม้บทความที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้จะมีการเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ทว่าบทความแต่ละชิ้นก็ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นเฉดทางความคิดของฟูโกต์ หลายชิ้นจัดได้ว่าเป็นผลงาน “คลาสสิก” ของ “ครู” ผู้ทำให้สังคมไทยรู้จักฟูโกต์ อีกหลายชิ้นเป็นผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่เปิดพรมแดนการถกเถียงเกี่ยวกับฟูโกต์ให้กว้างขวางออกไป
สารบัญ
- คำนำสำนักพิมพ์
- บทบรรณาธิการ / อนุสรณ์ อุณโณ
- ฟูโกต์และอนุรักษนิยมใหม่ / ธเนศ วงศ์ยานนาวา
- ฟูโกต์กับปริศนาแห่งองค์อธิปัตย์ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยสมัยใหม่ในคำสอนของมิเชล ฟูโกต์ / อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง
- การศึกษาประวัติศาสตร์แบบสาแหรก วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของฟูโกต์ / ธงชัย วินิจจะกูล
- ฟูโกต์ในการศึกษาหลังการพัฒนา / สามชาย ศรีสันต์
- การสลักเรือนร่าง (Crafting Bodies) ฟูโกต์กับสังคมวิทยาร่างกาย / จุฬารัต ผดุงชีวิต
- เรือนร่างที่ถูกแฝงฝังและเรือนร่างที่ถูกถอดแยก วิพากษ์มรดกตกทอดของฟูโกต์ในสังคมวิทยาร่างกาย / สลิสา ยุกตะนันทน์
- ประวัติผู้เขียน