ย่ำย่างหนทางไทย ของ (ส.ศิวรักษ์)
ISBN: 9789748418186
ผู้แต่ง : ส.ศิวรักษ์
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : ศึกษิตสยาม
ปีที่พิมพ์ : 2550
จำนวนหน้า : 320
ในหนังสือ Five cycles of friendship ที่บรรดามิตรสหาย นอกเหนือไปกว่าคนไทยด้วยกัน ได้ร่วมอุทิศข้อเขียนสั้นๆ ให้เมื่อคราว ส. ศิวรักษ์ มีอายุล่วงเข้าสู่รอบที่ห้าแห่งปีนักษัตร (พ.ศ.๒๕๓๖) นั้น ศาสตราจารย์วิลเลี่ยม เจ เก็ตนีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและนิรุกติศาสตร์ไทย ได้กล่าวถึงเรื่อง ช่วงแห่งชีวิต งานเขียนอัตชีวประวัติของ ส. ศิวรักษ์ เอาไว้ว่า มีความโดดเด่นในแง่ของการ เล่าย้อนอดีตอย่างที่แทบจะหลับตาเห็นภาพได้เลย ทีเดียว สัมผัสได้แม้กระทั่งรายละเอียดของข้าวของเครื่องใช้ในบ้านบรรดามี โดยนี้ดูจะเป็นทัศนะวิจารณ์จากนักอ่านจำนวนไม่กี่คนนัก ที่ได้หยิบยกเอามิติของการพรรณนาซึ่งสิ่งที่เคยประสบพบเห็น อันสำแดงอยู่ในข้อเขียนของบุคคลผู้นี้มาอ้างเอ่ยไว้ และเมื่อพิจารณาดูให้ดี ก็ไม่น่าเห็นเป็นเรื่องแปลก เพราะงานประเภทอัตชีวประวัติย่อมจะมีท่วงทำนองไปในทิศทางเช่นนั้นอยู่เอง ด้วยผู้เขียนย่อมต้องใช้ถ้อยคำบรรยาย เพื่อโน้มนำให้ผู้อ่านนึกเห็นคล้อยตามเรื่องราวที่ตนได้รับรู้มาโดยตลอด ยิ่งกับงานที่มีความหนาถึงห้าหกร้อยหน้าด้วยแล้ว ก็เป็นอันมีพื้นที่ให้บรรยายอะไรๆ เพื่อได้เห็นภาพกันจะแจ้งสมดั่งตั้งใจ หากสำหรับนักอ่าน ส. ศิวรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังๆ ด้วยแล้ว อาจจะไม่ค่อยได้พานพบกับถ้อยคำบรรยายในสิ่งละอันพันละน้อย ซึ่งเป็นสภาพรูปธรรมที่ปรากฏอยู่รอบๆ ตัวของเขาเท่าใดนัก มิพักต้องพูดถึงเงื่อนไขความยากลำบากในการไปเที่ยวหาหนังสือเล่มเขื่องๆ อย่าง ช่วงแห่งชีวิต และ/หรือ ช่วงหลังแห่งชีวิต มาเพียรอ่านให้ตลอด อาจรู้สึกฉงนฉงายใจอยู่บ้าง ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว เมื่อก่อนหน้านั้นออกไป มีข้อเขียนของ ส. ศิวรักษ์ จำนวนมากมายที่ได้แสดงออกถึงท่วงทำนองการพรรณนาความของ เขา อันช่วยให้เรามีจินตนาการติดตามมองเห็น ในรูปของบทความสั้นๆ ซึ่งสะท้อนภาพเหตุการณ์ที่ได้ประสบพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็เมื่อตอนเดินทางกลับจากต่างประเทศมาใหม่ๆ ที่ นอกจากจะกระทบใจกับภาพความเปรียบเทียบกันของสองสังคม แล้ว ก็ประจวบกับเป็นห้วงปีที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นเดินหน้า เข้าสู่ยุคสมัยแห่งการพัฒนาอย่างเต็มตัวอีกด้วย ขณะเดียวกันสภาวการณ์ทางการเมืองของเราก็กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งอำนาจเผด็จการ จึงไม่จำต้องแปลกใจอะไรที่ถ้าจะไปเจอเข้ากับวลี ประเภท พัฒนา จงทำดีๆ อนุสาวรีย์ น้ำพุ และหอนาฬิกา ป่าคอนกรีต ไนท์คลับ หรือแม้กระทั่งเรือที่ติดเครื่องหางยาว ฯลฯ ซึ่งมีให้เห็นได้อยู่บ่อยๆ ทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นภาพประกอบที่ฉายสะท้อนองคาพยพและอาการกิริยาที่สังคมไทยกำลังไหลเลื่อนเคลื่อนตัวไปตามแนวโน้มดังกล่าว ย่ำย่างหนทางไทย คือผลงานลำดับที่สองในหนังสือชุดค่อนศตวรรษ ส. ศิวรักษ์ เป็นการประมวลเอาภาพต่อของสิ่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนรู้เห็นความแปรเปลี่ยนไปของบ้านเมืองไทย ซึ่งกล่าวได้ว่า นับแต่หลังกึ่งพุทธกาลหมาดๆ เป็นต้นมา ทั้งในพระนครและหัวเมือง ทั้งในเมืองและในชนบท โดยได้ขยายออกไปใน สารทิศ โดยเราต้องไม่ลืมว่า แม้กระแสความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในเวลานั้นจะถาโถมเข้ามารวดเร็วเพียงใด แต่ครรลองวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ของเรายังคงเนิบช้า ผู้คนคงมีเวลาเหลือเผื่อให้แก่การพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ ดังที่การเดินทางของบรรพชน ซึ่งมักสัญจรทางบกทางน้ำกันอย่างไม่เร่งรีบ จนทำให้เรามีนิราศเพราะๆ ไว้อ่านชโลมใจกันกระทั่งปัจจุบันนี้ ในช่วงวันคืนแห่งการเดินทางของ ส. ศิวรักษ์ แม้เขาจะได้ผจญภัยไปกับ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อสังเกตดูก็ย่อมจะพบว่า ท่ามกลางการจราจรอันเบาบางทว่า ออกจะปราศจากซึ่งความสะดวกสบายดังในสมัยหลังๆ เมื่อก้าว ลงจากยวดยานประเภทต่างๆ แล้ว ผู้เขียนให้ความสำคัญกับการย่ำเท้าก้าวย่างเอามากๆ เราจึงสามารถสัมผัสได้ถึงภาพรายละเอียดชนิดที่เคลื่อนไหวได้ ในเรื่องราวที่เขาส่องสอดสำรวจไปในทิศทั้งสี่ คล้ายๆ สารคดีนำเที่ยวที่นำทางย้อนยุคบ้านเมืองและชนบทไทยเมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้วกลายๆ สิ่งที่ต่างออกไปก็เห็นจะเป็นกลิ่นอายแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีอยู่ในถ้อยคำสำนวนของเขา ทั้งในแง่ที่ชื่นชม และโจมตี หรือกระทั่งเป็นกลางๆ ในความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นสมัยใหม่อย่างพยายามโยงเข้าหารากเหง้าเดิมเสมอ อันเป็นบุคลิกภาพแห่งความเป็น ส. ศิวรักษ์ ที่เราๆ ท่านๆ มักคุ้นชินกันเป็นอย่างดีแล้วฉะนั้น จาก คำอธิบายเฉพาะเล่ม นิพนธ์ แจ่มดวง บรรณาธิการ