ต้องเนรเทศ (ปกแข็งสันโค้ง-มีแจ๊คเก็ตภาพวาดสี่สีหุ้มปก-เนื้อในกระดาษปอนด์)
ISBN: 9786168300053
แปลจากหนังสือ : -
ผู้แต่ง : วัฒน์ วรรลยางกูร
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์อ่าน
ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2565
จำนวนหน้า : 832
ต้องเนรเทศ (Seven Years in Exile)
วัฒน์ วรรลยางกูร
ปกแข็งสันโค้ง มีแจ็คเก็ตหุ้มปก
แจ็คเก็ตหุ้มปกเป็นภาพวาดสี่สี ผลงานของ “วนะ วรรลยางกูร”
ปก(ด้านใน)เป็นภาพถ่ายขาวดำ ผลงานของ “ศุภชัย เกศการุณกุล”
เนื้อในกระดาษปอนด์ถนอมสายตา
“กระดาษปอนด์” คือกระดาษขาวๆ ที่ใช้พิมพ์หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คทั่วไป ดูขึงขังกว่าสักหน่อย โดยสำนักพิมพ์ใช้กระดาษปอนด์ถนอมสายตา สีออกเหลืองนวลสบายตา
ทุกเล่มมีริบบิ้นคั่นเป็นริบบิ้นแดง
.เนื้อหาที่อัดแน่นและพรั่งพรูของผู้เขียนจนกลายเป็นหนังสือเล่มโตที่ไม่อาจตัดตอนได้ ขอให้ผู้อ่านนึกถึงการทำงานของ วัฒน์ วรรลยางกูร ยามเมื่อเขารอดพ้นเงื้อมมฤตยูไปถึงแดนผู้ลี้ภัย และลงมือปั่นต้นฉบับออกมาอย่างไม่รู้วันเวลา ดังที่เขาบรรยายไว้
“เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ปี 2020 พร้อมการระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด 19 ‘ต้องเนรเทศ’ เริ่มมุดเชือกกั้นสังเวียนจากหน้ากระดาษลายมือขึ้นสู่หน้าจอคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โลดแล่นทะยาน ตลอดคืน ไม่ง่วง ไม่เพลีย ไม่อยากนอน จนเก้าโมงวันใหม่ก็ยังไม่ง่วง โรงงานผลิตต้นฉบับเครื่องร้อนไม่หยุด จนต้องหยุดพักเครื่อง ราดรดดับเครื่องร้อนด้วยเครื่องดื่มสูตรเดิม ... พิมพ์ต้นฉบับข้ามคืน ตาค้าง ไม่อยากนอน กว่าจะหลับลงได้ มิรู้ว่าเวลาเท่าไรของวันใหม่ ทิวากาลที่ไร้แสงแดด ชวนสับสน...”
(ต้องเนรเทศ, หน้า 5)
“การหลบราชภัยมาอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้กันเสียจนยากจะเล็ดลอดหลบสายตาผู้ล่า อยู่ตรงไหนก็ไม่เป็นความลับ และไม่มีระบบลี้ภัยสากลมารองรับ เหมือนปลาที่รู้ว่าตนมีภัย จะว่าย จะหลบลี้ไปทางไหน ก็ยังอยู่ในกระชังอันจำกัด...
“ลูกชายสองคนซึ่งตระหนักว่าชีวิตนี้เหลือพ่ออยู่คนเดียว แม่ไม่อยู่แล้ว จึงผลัดเวียนมาอยู่เป็นเพื่อนพ่อ พยายามชวนพ่อเที่ยวเล่น พาลงเล่นน้ำคลายเครียด นั่งจิบเบียร์กันบนหาดริมแม่น้ำใหญ่เมื่อน้ำลดหน้าแล้งเดือนมีนา ทั้งที่แท้จริงลึกๆ แล้วพวกเขาเครียดกว่าพ่อ เด็กหนุ่มไม่เคยผ่านประสบการณ์กดดันเช่นนี้มาก่อน สำหรับคนรุ่นเขา คงเหลือเชื่อว่าคนเราสามารถไล่ฆ่ากันได้เพราะคิดต่างทางการเมือง
“หลังเหตุการณ์ผ่านไปเป็นปีแล้ว ลูกชายจึงเผยเบื้องลึกย้อนหลังว่า ในค่ำคืนที่มานอนเป็นเพื่อนพ่อ ณ บ้านริมบึง กลางป่าเงียบสงัด ไม่มีไฟฟ้า ดาวเหนือบึงน้ำระยิบระยับ เขาฝันร้าย และฝังใจอยู่กับคำบอกเล่าของพ่อ ที่บอกว่า ชีวิตของพวกพ่อ เหมือนปลาอยู่ในกระชัง
“ลูกชายคนโตมาวาดภาพพ่อในระหว่างภัยคุกคาม ในภาพพ่อถอดเสื้อกำลังนั่งในเรือชมวิวคลายกังวล แต่ดูให้ดี เรือลำนั้นค้างติดแห้ง เพราะน้ำในบึงลดฮวบ เรือไปไหนไม่ได้ และถ้าดูใกล้ๆ สังขารของพ่อผอมโทรมมาก กี่ปีแล้วที่พ่อกรากกรำกับชีวิตเวิ้งว้างโดยลำพัง ชีวิตที่เหมือนเรือค้างแห้ง หาใช่มานั่งเรือกินลมชมบึง”
-วัฒน์ วรรลยางกูร, ต้องเนรเทศ น. 84
สำนักพิมพ์เลือกภาพวาดสีน้ำมัน “สงครามของพ่อ” โดย วนะ วรรลยางกูร มาใช้เป็นแจ็คเก็ตหุ้มปกของ "ต้องเนรเทศ" เพราะมันคือภาพเดียวกันกับที่วัฒน์ วรรลยางกูร บรรยายถึงไว้ข้างต้น (ปัจจุบันภาพนี้อยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย “ใหม่เอี่ยม” จ.เชียงใหม่)