ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2558
ISBN: 9786167667423
ผู้แต่ง : ฟ้าเดียวกัน
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน
ปีที่พิมพ์ : 2558
จำนวนหน้า : 211
สารบัญ
ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2558
บทบรรณาธิการ 8 องคมนตรีกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบไม่ประชาธิปไตย
ทัศนะวิพากษ์
สมชาย ปรีชาศิลปกุล 10 จากองคมนตรีสู่สภาที่ปรึกษาในพระองค์จำแลง
ชานันท์ ยอดหงษ์ 83 ประวัติศาสตร์นิพนธ์และการเรียนประวัติศาสตร์ของทหารกับการสร้างความชอบธรรมและ “ชอบทำ” รัฐประหาร
รังสิมันต์ โรม ปิยวัจน์ สัตยพานิช 116 เมื่อตุลาการเข้าข้างกบฎ : ปัญหาการใช้และการตีความกฏหมายอาญามาตรา 113 และ 114 ของศาลไทย
ประวิตร โรจนพฤกษ์ 140 การกักขังและปรับทัศนคติข้าพเจ้าโดยเผด็จการทหาร คสช. รอบสอง
ธนเดช เวชสุรักษ์ 150 วิกฤตเศรษฐกิจกรีซภายใต้บริบทวิกฤตการเงินโลกในมุมมองของยานิส วารูฟากิส
รายงานพิเศษ
ธนาพล อิ๋วสกุล ชัยธวัช ตุลาธน 50 ใครเป็นใครในองคมนตรีแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ธนาพล อิ๋วสกุล 70 ภูมิหลังองคมนตรีใต้พระบรมโพธิสมภาร
อุษาคเนย์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล 178 ประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซีย : ก่อนการกำเนิดรัฐชาติจนถึงการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ (ตอนที่สอง)
องคมนตรีกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย
ท่ามกลางวาทกรรมต่างๆ นานาที่บอกว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในกระบวนการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาธิปไตยที่ผ่านมา แล้วเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ดีกว่าและเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะของสังคมไทยมากกว่านั้น เกษียร เตชะพีระ ได้เสนอกลับหัวกลับหางเสียใหม่ว่า วิกฤตการเมืองไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่ปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย (transition to democracy) ไม่สำเร็จ แต่คือปัญหาการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย (transition to non-democracy) ซึ่งฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยเป็นฝ่ายรุกไล่ฝ่ายประชาธิปไตย ทว่าจนถึงขณะนี้ ผ่านรัฐประหารมาสองหนแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จอีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ เกษียรจึงเสนอทางออกว่า ต้องเริ่มจากการที่ชนชั้นนำเลิกคิดสร้างระบอบไม่ประชาธิปไตย และยอมรับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เป็นตัวตั้งร่วมกันก่อน จากนั้นถึงจะสร้างฉันทามติรองรับระเบียบการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและยอมรับขึ้นมาได้
คำถามคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” คืออะไรกันแน่ ฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยเข้าใจสิ่งนี้ตรงกันหรือไม่อย่างไร และหากมองในกรอบประวัติศาสตร์ช่วงยาวขึ้น ระบอบที่ว่านี้โดยตัวมันเองแล้วเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตยเสียเองด้วยหรือเปล่า
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่คณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะเรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งในอีกมุมหนึ่งนั้น ณัฐพล ใจจริง ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) ได้เสนอไว้ว่า การรัฐประหาร 2490 ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการ “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร” และเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาสิ่งที่เรียกกันภายหลังว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ (ทรง) เป็นประมุข”
การรัฐประหาร 2490 ได้ให้กำเนิดการเมืองในแบบที่ต่างไปจากระบอบรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตยตามจุดมุ่งหมายของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 องค์คาพยพหนึ่งของระบอบการเมืองหลังยุคคณะราษฎรก็คือ “องคมนตรี” ซึ่งปรากฏครั้งแรกในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492
ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ 2492 ครั้งหนึ่ง (กรุณาดูบทความของสมชาย ปรีชาศิลปกุล ในวารสารฉบับนี้) นายยกเสียง เหมะภูมิ ส.ส. ระนอง ได้อภิปรายถามว่า
ตามรัฐธรรมนูญที่แล้วๆ มาไม่มี สงสัยว่าทำไมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สมาชิกสภาร่างฯ จึงได้มีองคมนตรี ซึ่งเป็นการทำให้เกิดการเสียหายได้หลายประการ คือว่าเมื่อมีคนหลายคนขึ้นให้คำแนะนำพระมหากษัตริย์แล้ว อาจกลายเป็นว่านานๆ ไปบางกรณีอาจมีพระเจ้าแผ่นดินหลายองค์ซึ่งจะเป็นการยุ่งยาก
ขณะที่ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ ส.ส. พิษณุโลก ซึ่งแม้จะเป็นฝ่ายนิยมเจ้าและเคยเข้าร่วมกบฏบวรเดชมาก่อน ก็ยังมีความเห็นคัดค้านการมีองคมนตรีด้วยเหตุว่า
ข้าพเจ้าถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการหาพวกให้แก่พระมหากษัตริย์ เช่นองคมนตรี หรือวุฒิสภา พวกของพระมหากษัตริย์เหล่านั้นเท่ากับเป็นกำแพงที่กั้นความจงรักภักดีของประชาชน… ขอให้คิดดูว่า ถ้าพระมหากษัตริย์มีพวก ใครจะรับรองว่าพวกของพระองค์นั้นจะดีเสมอไป… และถ้ามีข้อพิพาทขึ้น ประชาชนถ้าเป็นฝ่ายแพ้ ก็จะต้องเป็นศัตรูของพระมหากษัตริย์ เพราะเหตุที่พวกของพระมหากษัตริย์นี่แหละเป็นผู้ก่อขึ้น… เราโดยที่เคารพสักการะพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่งอย่างที่อังกฤษว่า ‘เดอะ คิง แคน ดู โนว์ ว๎รอง’ แต่พวกของพระมหากษัตริย์จะมามี ‘แคน ดู โนว์ ว๎รอง’ ด้วยไม่ได้ทีเดียว ถ้าใครมีชีวิตอยู่ในรัชกาลที่ 6 คงจะได้อิดหนาระอาใจมาแล้วว่า ในพวกที่ใกล้ชิดสนิทพระมหากษัตริย์ บางท่านที่เสียหายไปก็ด้วยเหตุนี่แหละ ถ้าเราจะมีพวกพระมหากษัตริย์ขึ้นก็ประวัติศาสตร์ที่ร้ายก็จะซ้ำรอยมาสู่เมืองไทยอีก… ก็บัดนี้ เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว เราจะกลับย้อนหลังว่ายน้ำเข้าไปหาตลิ่งแล้วเราอยู่กลางคลองของประชาธิปไตยแล้ว ข้าพเจ้า เห็นว่าไม่สมควรที่จะให้มีพวกของพระมหากษัตริย์ดังร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามานี้
ดังคำอภิปรายเตือนในสภาข้างต้น อำนาจและสถานภาพขององคมนตรี ทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ ได้ปรากฏเป็นปัญหาขึ้นมาจริงๆ ใครบอกได้บ้างว่า การแสดงความเห็นทางการเมืองของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายพลากร สุวรรณรัฐ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ฯลฯ นั้น เป็นเพียงการแสดงความเห็นในฐานะคนไทยคนหนึ่ง หรือในฐานะองคมนตรีที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามอัธยาศัย ในความเป็นจริงทางการเมือง องคมนตรีได้กลายมามีบทบาทเป็นผู้เล่นคนสำคัญ โดยเฉพาะในรอบทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ออกมา “คิกออฟแคมเปญ” ภายใต้โวหารเรื่อง “ม้า จ๊อกกี้ และเจ้าของคอกม้า” ก่อนจะเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งหลังจากนั้นเราก็ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากองคมนตรี คือพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่บัดนี้กำลังพาเราว่ายน้ำย้อนหลังกลับกลางคลองประชาธิปไตย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะถึงฝั่งคลองหรือไม่ เมื่อไร อย่างไร และต้องสูญเสียไปอีกสักเท่าไร