Kledthai.com

ตะกร้า 0

ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา (ปกอ่อน)

ISBN: 9786167667386

ผู้แต่ง : เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน

ผู้แปล : -

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน

ปีที่พิมพ์ : 2558

ซีรี่ส์:
-
พร้อมส่ง
ISBN:
9786167667386
ราคาพิเศษ ฿315.00 ราคาปรกติ ฿350.00

คำนำเสนอ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

“ชาติ” กับ “มนุษยชาติ” ของเบน แอนเดอร์สัน

ผมได้ฟังอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน บรรยายเรื่องกลุ่มภาษาพูดจีนในไทยหายไปไหน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2015 ที่สยามสมาคม ทำให้ผมปะติดปะต่อความคิดของอาจารย์เบนว่าด้วยเรื่อง ชาติ (นิยม) ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ ได้กระจ่างขึ้น ผมคิดว่าโครงเรื่องทั้งหมดอธิบายความเป็นมาและความคิดทางวิชาการอันไม่ธรรมดาของเขาได้ค่อนข้างดี บทนำต่อไปนี้จึงเป็นความพยายามทำความรู้จักและเข้าใจครูเบนจากประสบการณ์ชีวิตและครอบครัวของเขาเอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิดและการทำงานวิชาการแบบ “จระเข้ขวางคลอง” ของเขาเรื่อยมา

ในบทความเรื่อง “Selective Kinship” (Anderson 2003, 5) เบนจบบทความเรื่องโครงกระดูกในตู้ของเขาและครอบครัวแอนเดอร์สันด้วยการถามว่า ประการแรก เขาได้อะไรจากการเขียนพรรณนาเสียยาวยืด สอบค้นหาสาแหรกและวงศาคณาญาติย้อนกลับไปนับได้สามร้อยปี (ไม่น่าเชื่อ) ของบรรพบุรุษสายพ่อในไอร์แลนด์ คำถามประการที่สองคือ เขาจินตนาการตัวเองเป็นคนไอริชอย่างไร ต่อคำถามแรกเขาตอบว่า เขาใช้วิธีการบุพกาลของการคัดสรรและสร้างนิยายให้กับวงศาคณาญาติ (primitive spirit of fictive and selective kinship) อันเป็นวิธีการเก่าแก่ที่มักกระทำกันมาด้วยการย้อนกลับไปค้นหาแล้วสร้างสาแหรกของญาติโกโหติกาแต่หนหลังเพื่อจะได้ทำความรู้จักกับตัวเองในปัจจุบัน นี่เป็นวิธีการเดียวกับที่นักมานุษยวิทยา (ตะวันตก) มักนำไปใช้กับชุมชนบุพกาลในโลกที่สาม ด้วยการเลือกสรรและตบแต่งเรื่องราวเสียใหม่โดยนักมานุษยวิทยาเอง ดังนั้น เบนจึงกล่าวไว้ด้วยว่า เรื่องโครงกระดูกในตู้ของเขาก็ทำแบบอัตวิสัย คือคัดเลือกตบแต่งโคตรเหง้าและความเป็นมาให้ต้องตามอัธยาศัยของเขา บรรพบุรุษคนไหนที่เป็น “ดาวเด่น” ก็พูดถึงและให้น้ำหนักมากหน่อย ส่วนคนที่เป็น “ดาวร้าย” ก็พูดถึงน้อยหรือตัดให้สั้นลง

แต่นั่นไม่ใช่จดหมายสำคัญของการรื้อสร้างวงศ์ตระกูล โอ’กอร์แมน-แอนเดอร์สัน (O’Gorman Anderson) ของเขาขึ้นมา จุดหมายและอุดมคติของเขาในเรื่องนี้อยู่ในคำตอบต่อคำถามข้อที่ 2 นั่นคือการตัดสินใจเลือกถือสัญชาติไอร์แลนด์ แล้วโยนทิ้งสัญชาติอังกฤษไป หลังจากได้รู้จักและตระหนักถึงอัตลักษณ์และตัวตนของเขาเองว่ามีความเป็นมาจากการเกิดและเติบโตในสองชุมชนพลัดถิ่นในไอร์แลนด์และอังกฤษ (diaspora) ได้ตระหนักถึงความผูกพันและพันธกิจทางการเมือง (political commitments) ของคนในครอบครัว บ่มเพาะและสร้างอุดมการณ์ของการปลดปล่อยมนุษย์ (human emancipation) ในตัวเขาขึ้นมา และท้ายสุดคือคติว่าด้วยลัทธิชาตินิยมที่เป็นพลังด้านบวกอันเป็นความหวังสำหรับอนาคต (enlightened nationalism) นี่คือหัวใจในงานวิชาการและการเคลื่อนไหวทางวิชาการของเขามาโดยตลอด

เบน แอนเดอร์สันเป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่นอกบ้านเกิดเมืองบิดร กรณีของเขายิ่งซับซ้อนมากขึ้นเพราะแม้บ้านเกิดจริงๆ ก็ไม่ใช่เมืองบิดรคือไอร์แลนด์ หากแต่เป็นเมืองและประเทศที่ห่างไกลและไม่มีความผูกพันกันกับบ้านเดิมเลยแม้แต่น้อย นอกจากความเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมและลัทธิจักรวรรดินิยม นั่นคือในเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เนื่องด้วยบิดาของเบนได้งานทำในสำนักศุลกากรทางทะเลในจีน (the Imperial Maritime Customs Service of China) เพราะว่าปู่ซึ่งเกิดในสิงคโปร์เคยเป็นนายพลทหารในกองทัพบริติช เคยนำกำลังทหารบุกยึดเมืองมัณฑะเลย์แล้วมาประจำการในมาลายาของอังกฤษ พ่อของเบนจึงถือกำเนิดในเมืองปีนังในปี 1893 แล้วกลับไปโตในเมืองวอเตอร์ฟอร์ดอันเป็นภูมิลำเนาของตระกูล ต่อมาพ่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่สอบตกในปีแรกเลยถูกรีไทร์ ทำให้ตัดสินใจหางานทำ เมื่อลุงของพ่อซึ่งเป็นอดีตนายพลกองทัพเรืออังกฤษซึ่งเคยถูกส่งไปประจำการอยู่ในฮ่องกงเพื่อรักษาเกาะนั้นเอาไว้จากข้าศึก ยื่นมือมาช่วยด้วยการส่งพ่อไปทำงานกับสำนักงานศุลกากรทางทะเลของจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่หลักๆ เป็นคนอังกฤษ พ่อของเบนจึงได้ตั้งรกรากในฮ่องกงในตำแหน่งนายด่านศุลกากร อันเป็นกิจการใหญ่ของการค้าที่อังกฤษบีบบังคับให้จีนเปิดประเทศและเมืองท่าแก่ทุนนานาชาติ พ่อครูเบนทำงานในดินแดนของจีนถึง 20 ปีก่อนแต่งงานกับแม่ครูเบน ก่อนหน้านั้นพ่อเคยแต่งงานกับสตรีนักเขียนชาวอังกฤษชื่อสเตลลา เบนสัน (Stella Benson) ทั้งสองพำนักในฮ่องกง แต่พ่อของเบนไม่ชอบเกาะนั้นเลยเพราะไร้รสนิยม เมื่อได้โอกาสจึงย้ายไปทำงานที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานในปี 1920 หลังจากนั้นภรรยาคนแรกเสียชีวิต ในปี 1935 พ่อกลับมาเยี่ยมบ้านในไอร์แลนด์แล้วได้พบแม่ของเบนซึ่งเป็นคนอังกฤษในกรุงลอนดอน ทั้งสองแต่งงานกันแล้วเดินทางไปพำนักในคุนหมิง ปีถัดมาเบนก็ถือกำเนิดโดยมีพี่เลี้ยงหรืออาม่าชื่อตี้ไฮ (Ti Hai) เป็นสาวเวียดนาม เบนเล่าว่าภาษาแรกที่เขาพูดในวัยเด็กคือ ภาษาเวียดนาม

อาจด้วยคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมสังคมเอเชียแต่เล็ก พ่อของเบนเรียนภาษาจีนและชอบภาษาทำให้มีความสามารถในภาษาจีน รวมทั้งยังชอบคนจีนสามัญชนด้วย ในขณะที่แม่ก็มีตี้ไฮเป็นเพื่อนสนิทในบ้าน เบนจึงโตมาในบ้านและท่ามกลางผู้คนที่ชื่นชอบในความเป็นเอเชีย ระหว่างนั้นครอบครัวเบนได้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านในไอร์แลนด์และอังกฤษ เมื่อสงครามโลกและการรบในมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดขึ้น ครอบครัวแอนเดอร์สันตัดสินใจเดินทางกลับไอร์แลนด์ อันเป็นบ้านฝ่ายพ่อเพราะสุขภาพของพ่อไม่ดี แต่แล้วกลับไปติดอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา ไม่อาจเดินทางต่อไปถึงยุโรปได้เพราะสภาวการณ์สงครามห้ามไม่ให้พลเรือนเดินทางทางทะเล การเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านกลายเป็นการผจญภัยไป ในปี 1943 ครอบครัวต้องเดินทางผ่านทางสหรัฐฯ เพื่อไปยังอังกฤษ และในสหรัฐฯ นี่เองที่เบนมีประสบการณ์ของการเป็นคน “กลุ่มน้อย” เพียงเพราะภาษาที่เขาพูดและใช้ในการสื่อสารนั้นไม่เป็นแบบฉบับเดียวกับของเพื่อนนักเรียนส่วนใหญ่ เบนเจอประสบการณ์ดังกล่าวครั้งแรกเมื่อเขากับน้องชายคือรอร์รี่ (หรือเพอร์รี่ในชื่อทางการ) ไปเข้าโรงเรียนประถมในสหรัฐฯ เขากับน้องถูกนักเรียนอเมริกันล้อว่าเป็น “เด็กอังกฤษ” เพราะสำเนียงไม่ใช่อเมริกันแน่นอน

หลังสงครามโลกยุติ ครอบครัวกลับไปไอร์แลนด์ เขากับน้องชายก็เข้าโรงเรียนไอริช คราวนี้ถูกเพื่อนนักเรียนไอริชล้อว่าสำเนียงเขาเป็นแบบ “อเมริกัน” ไม่ใช่ไอริชแท้ สุดท้ายเมื่อเขาเข้าไปเรียนในอังกฤษ ก็ถูกหัวเราะเยาะว่าสำเนียงเขาเป็น “ไอริช” ไม่ใช่อังกฤษแท้ ตกลงเบนกลายเป็นคนสามสัญชาติคือ เป็นอังกฤษ อเมริกัน และไอริช แล้วแต่ว่าจะตกไปอยู่ในบริบทของสังคมไหน ประสบการณ์ของการมีหลายสัญชาติทำให้เขาคุ้นเคยกับพหุนิยมทางวัฒนธรรมมากกว่าการเป็นเอกนิยมทางวัฒนธรรม และทำให้เขาเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ล้วนมีอัตลักษณ์ของพหุนิยมทางวัฒนธรรมมากกว่าการเป็นอะไรเพียงชาติเดียว นี่เองที่ทำให้เขาเกาะติดประเด็นอัตลักษณ์ความเป็นจีนของคนรุ่นใหม่ในประเทศอุษาคเนย์ได้ว่ามีอิทธิพลและความเป็นมาอันยาวนาน ในขณะทีการเกิดและสร้างลัทธิชาตินิยมของแต่ละประเทศนั้นเป็นจินตกรรมใหม่และสั้นกว่ามาก

ในที่สุดครอบครัวแอนเดอร์สันก็เดินทางกลับไปยังเมืองวอเตอร์ฟอร์ดในไอร์แลนด์ ที่นั่นแม่ของเบนวางแผนให้ลูกชายสองคนเข้าโรงเรียนที่เตรียมตัวสอบทุนต่อไป เนื่องจากครอบครัวไม่มีรายได้อื่นใดนอกจากเงินบำนาญของพ่อเท่านั้น ทั้งเบนและเพอร์รี่ไม่ทำให้แม่ผิดหวัง เพราะสามารถสอบได้ทุนเข้าโรงเรียนอีตันอันเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่โด่งดังสำหรับชนชั้นนำ จากนั้นเบนก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาเลือกเรียนวิชาคลาสสิก ไม่ใช่รัฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ที่ลูกหลานชนชั้นนำมักเข้าไปเรียนกัน

หากประมวลจากสาแหรกทั้งฟากบิดาและมารดา ต้องกล่าวว่าบรรพบุรุษของเบนจัดอยู่ในชนชั้นสูงและกลาง สายบิดาที่มาจากยายถือสกุลโอ’กอร์แมน มีคนที่เป็นนายทหารในกองทัพจักรวรรดิบริติช เป็นสมาชิกกลุ่ม United Irishmen ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการปฏิวัติสาธารณรัฐ เป็นขุนนางคาทอลิกที่ใกล้ชิดกับสันตะปาปาจนได้รับแหวนทองคำและกล่องใส่ยาเส้นเป็นของขวัญจากโป๊ป มีคนที่เป็นสมาชิกกลุ่มกบฏที่ร่วมการปฏิวัติในยุโรปปี 1848 ที่เลื่องชื่อแล้วต้องหลบหนีไปต่างประเทศ สุดท้ายมีคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประวัติของตระกูลโอ’กอร์แมนที่เบนอยากจำคือ การเป็นนักสู้ชาตินิยมไอริช ส่วนที่ไม่อยากจำคือคนที่รับใช้จักรวรรดิอังกฤษ ส่วนบรรพบุรุษสายมารดาที่เป็นอังกฤษ ส่วนมากเป็นพ่อค้านักธุรกิจ ผู้พิพากษาและตำรวจ มีลุงคนหนึ่งเคยเดินทางไปถึงเอเชียกลางและกลับมาเขียนเป็นหนังสือ กล่าวโดยรวม เบนไม่อาจจินตนาการถึงตัวเขาเองว่าเป็นอังกฤษได้เลย

ชาตินิยมและพลังของการสร้างอนาคตและความหวังให้แก่คนรุ่นใหม่ค่อยๆ ก่อรูปขึ้นในความคิดและการปฏิบัติของเบน เริ่มจากการตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา กับศาสตราจารย์จอร์จ เคฮิน ผู้มีชื่อเสียงจากผลงานเกี่ยวกับการปฏิวัติและลัทธิชาตินิยมอินโดนีเซีย อาจารย์จอร์จ เคฮินเพิ่งก่อตั้งโครงการอินโดนีเซียศึกษาในสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล จากนั้นเบนออกภาคสนามในอินโดนีเซียระหว่างปี 1961-64 ที่นั่นเขาได้เรียนรูประวัตศาสตร์และวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ ได้สัมผัสกับการเมืองของอุษาคเนย์ด้วยตนเอง หัวข้อวิทยานิพนธ์ของเขาคือ “The Pemuda Revolution : Indonesian Politics 1945-1946” (1967) ซึ่งต่อมาปรับปรุงเนื้อหาพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ Java in Time of Revolution: Occupation and Resistance 1944-1946(1972) ได้สะท้อนความคิดทางการเมืองของเขาในระยะนั้น ในขณะที่ด้านหนึ่งเขาปฏิเสธฮอลันดาที่เป็นเจ้าอาณานิคม ในอีกด้านหนึ่งเขายินดีและให้ความหวังแก่การปฏิวัติของโลกที่สาม ในปี 1964 เบนสละสัญชาติบริติชแล้วไปใช้สัญชาติไอริชแทน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด แนวคิดและอุดมคติที่มีอิทธิพลต่อเบน แอนเดอร์สันมากที่สุดได้แก่ลัทธิชาตินิยม แต่เขาก็ตระหนักถึงอิทธิพลด้านลบของมันเช่นกัน ดังที่เขาได้กล่าวว่า “คนมักเข้าใจมันผิดๆ เสมอ ความเข้าใจผิดประการแรก ได้แก่ ความคิดและความเชื่อที่ปลูกฝังกันมานานว่า ชาตินิยมนั้นเป็นของเก่าที่มีมานานที่คนรุ่นปัจจุบันได้รับมรดกมาจากบรรพบุรุษที่วิเศษยิ่ง (absolutely splendid ancestors) ดังนั้น มันจึงเป็นเหมือนสิ่งธรรมชาติ ที่เกิดมาจากเลือดและเนื้อของเราแต่ละคน แท้จริงแล้วลัทธิชาตินิยมไม่ใช่ของเก่าแก่อะไรเลย มันเป็นของใหม่ อย่างมากก็แค่สองศตวรรษนี้เท่านั้นเอง คำประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1776 ก็ไม่ได้พูดสักคำถึงบรรพบุรุษ ยิ่งกว่านั้นยังไม่ได้กล่าวถึง ‘ชาวอเมริกัน’ เองอีกด้วย คำประกาศเอกราชของอินโดนีเซียซึ่งซูการ์โนและฮัตตาแถลงในวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ก็เหมือนกัน ในทางตรงกันข้าม ความคลั่งไคล้ในการแสวงหา ‘บรรพบุรุษที่วิเศษยิ่ง’ ต่างหากที่นำไปสู่การเกิดความเชื่ออันเหลวไหลต่างๆ และในหลายกรณีเป็นความเหลวไหลที่อันตรายอย่างยิ่งด้วย”

ดังนั้น ชาตินิยมจึงไม่ใช่มรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษในอดีตแต่อย่างใดเลย หากแต่เป็น “โครงการร่วมกัน” (common project) สำหรับปัจจุบันและสำหรับอนาคตด้วย โครงการที่ว่านี้เรียกร้องการเสียสละของตนเอง ไม่ใช่การเสียสละของคนอื่น ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้ก่อกำเนิดขบวนการเอกราชทั้งหลายจึงไม่อาจคิดได้วาพวกเขามีสิทธิในการฆ่าคนอินโดนีเซียอื่นๆ ได้ หากแต่กลับเป็นว่าพวกเขารู้สึกถึงหน้าที่ในการมีความกล้าหาญที่จะถูกจับกุมคุมขัง ที่จะถูกทุบตีและถูกเนรเทศ เพื่อเห็นแก่ความสุข และเสรีภาพในอนาคตของเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ ต่อไป

กล่าวย้ำอีกครั้ง “ลัทธิชาตินิยมที่แท้จริงต้องเรียกร้องการเสียสละของตนเอง ไม่ใช่ไปเรียกร้องให้คนอื่นเสียสละ”

ใครที่เคยได้พบและเสวนากับครูเบน คงได้ความประทับใจและบางครั้งอาจหงุดหงิดในอารมณ์ จากคำถามและการซักไปถึงการเปรียบเปรยคำตอบกับเรื่องคล้ายๆ กันแต่เกิดในที่อื่นๆ หรือเวลาอื่นของเบน เขาเป็นคนช่างคิดและช่างถามที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยเจอมา จนในที่สุดทำให้สรุปได้ว่า การเรียนนั้นแท้ที่จริงแล้วคือการคิด ไม่ใช่การท่องหรือการจำ  แต่ก็รู้ว่าการคิดและถามนั้น เอาเข้าจริงแล้วยากยิ่งกว่าการสอนให้จำหรือเข้าใจเสียอีก เพราะมันสอนไม่ได้ เรียนพิเศษก็ไม่ได้ หากต้องลงมือปฏิบัติแบบด้นสดๆ หัดคิดหัดถามไปทุกวันทุกเวลาที่มีโอกาส และแทบทุกเรื่องอย่างไม่จำกัด หรือมีข้อแม้อันใด แน่นอนว่าข้อคิดและคำวิพากษ์สังคมไทยที่เบนได้นั้น หลายเรื่องมาจากคนนอกวงวิชาการหรือนักคิดนักเขียนไทย เช่น คนขับแท็กซี่ แม่ค้า คนขับมอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน ฯลฯ เบนเชื่อว่าคนที่มีการศึกษาในระบบมักเป็นพวกที่มีอคติและคับแคบอย่างยิ่ง เบนจึงเป็นนักการศึกษานอกโรงเรียนและนอกห้องเรียนที่แหลมคม และทำงานทางความคิดตลอดเวลาไม่มีหยุด

แม้ว่างานศึกษาเรื่องไทยคดีของเบนจะยอดเยี่ยมและเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับไทยศึกษาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมาและคงต่อไปอีกหลายทศวรรษก็ตามผมยังคิดว่างานศึกษาของเบนในหลายประเทศในอุษาคเนย์ยังมีความโดดเด่นและแหลมคมไปถึงการนำเสนอข้อคิดและวิธีวิทยาของเขาที่สามารถตั้งคำถามใหม่ๆ ให้กับประวัติศาสตร์การเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ งานช่วงหลังของเขาที่เปิดมิติและแนวคิดใหม่ล้ำยุค คือการศึกษาประวัติภูมิปัญญาของนักคิดนักเคลื่อนไหวชาตินิยมฟิลิปปินส์รุ่นบุกเบิกอย่างโฮเซ ริซัล และสหาย ในหนังสือUnder Three Flags: Anarchism and the Anti-Colonial Imagination (2005) เบนใช้แนวการศึกษาอย่างสหวิทยาการไม่ว่านิรุกติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ไป จนถึงมานุษยวิทยาอย่างละเอียดพิสดาร ลึกซึ้งชวนอ่านและคิดตามอย่างฉงนสนเท่ห์ว่าเขาคิดแล้วเขียนมันออกมาได้อย่างไร ผมจึงคิดว่าหากจะเข้าใจและปฏิบัติอย่างที่ครูเบนได้กระทำไว้ในวงวิชาการและสังคมศาสตร์ เราคงต้องหัดศึกษาอย่างเปรียบเทียบและก้าวให้พ้นลัทธิบรรพบุรุษ ทัศนะคับแคบและการมุดหัวอยู่แต่ในโลกกะลาเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดเราจักต้องมีความศรัทธาและเชื่อมั่นใน การปลดปล่อยมนุษยชาติและพลังอันเป็นแสงสว่างด้านบวกของชาตินิยม ดังที่ครูเบนได้ปฏิบัติมาให้ได้

20 มีนาคม 2015

คำนำสำนักพิมพ์

ในแวดวงไทยศึกษาคงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ในฐานะ “ยักษ์” ที่ต้องข้ามให้พ้น ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดของเขาหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ไทยศึกษาหาได้เป็นความสนใจแรกเริ่มของเบน ทั้งนี้เพราะความสนใจเริ่มต้นของเบนคือเรื่องอินโดนีเซีย ดังวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเรื่อง “The Pemuda Revolution : Indonesian Politics 1945-1946” (1967) รวมทั้งผลงานอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับอินโดนีเซีย แต่เพราะเผด็จการซูฮาร์โตซึ่งขึ้นมาครองอำนาจตั้งแต่ปี 1968 ทนข้อวิจารณ์ของเบนไม่ได้ อีกทั้งไม่มีอำนาจจับกุมคุมขัง เช่นที่ได้ทำกับปัญญาชนท้องถิ่นอินโดนีเซีย เบนจึงเพียงถูกห้ามเข้าประเทศอินโดนีเซียนับตั้งแต่ปี 1972 (ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้าอินโดนีเซียได้อีกครั้งในปี 1999 หนึ่งปีหลังจากเผด็จการซูฮาร์โตล้มลง)

ความสนใจเรื่องไทยศึกษาของเบนหลังจากถูกห้ามเข้าอินโดนีเซีย น่าจะเกิดขึ้นเพราะความใกล้ชิดกับปัญญาชนไทยรุ่น 1960 ที่เดินทางไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยคอร์แนลที่เบนสอนอยู่ ภูมิรู้เกี่ยวกับเมืองไทยของเขา นอกจากค้นคว้าเองแล้ว ยังได้จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษารุ่นนั้น เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และทักษ์ เฉลิมเตียรณ นอกจากนี้ ดอกผลจากการลุกฮือขึ้นของนักศึกษาประชาชนเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 ก็เป็นแรงผลักดันให้เบนตัดสินใจเรียนภาษาไทยและเดินทางมาพำนักที่ประเทศไทยในปี 1974 ในช่วงเวลานั้นเอง สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ที่ได้รับจากอินโดนีเซียทำให้เบนส่งสัญญาณเตือนบรรดาลูกศิษย์และคนใกล้ชิดว่าเหตุร้ายกำลังจะย่างกรายเข้ามาในไม่ช้า

แม้เบนจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ความโหดร้ายของอาชญากรรมรัฐที่เกิดขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเขียนจดหมายเปิดผนึกประท้วงการรัฐประหารเลือด เบนหวังว่าจะมีนักวิชาการด้านไทยศึกษาในสหรัฐอเมริการ่วมลงนามด้วย ทว่าผิดคาด นักวิชาการเหล่านั้นไม่ร่วมลงนามด้วยแม้แต่คนเดียว มีเพียงจอร์จ เคฮิน (George Kahin) จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และเจมส์ สก็อต (James C. Scott) จากมหาวิทยาลัยเยล เพียงสองคนเท่านั้นที่ลงนามร่วมกับเบน โดยจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ความสะเทือนใจจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผนวกกับความผิดหวังต่อนักวิชาการไทยศึกษาในสหรัฐอเมริกา กระตุ้นให้เบนเขียนบทความ 2 ชิ้น ซึ่งสำคัญมากสำหรับปริมณฑลไทยศึกษา คือ “Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup” (1977) และ “Studies of the Thai State: The State of Thai Studies” (1979) ซึ่งเป็นบทที่ 2 และ 1 ของหนังสือ ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา เล่มนี้

อีก 7 บทที่เหลือ เป็นบทความ 4 ชิ้น และปาฐกถาอีก 3 ชิ้น ทุกชิ้นเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยสมัยใหม่ในด้านใดด้านหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่าหนังสือเล่มนี้พูดถึงประเด็นอะไรบ้าง เนื่องจากเบนอภิปรายถึงเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง คงบอกได้แต่เพียงว่าจุดเด่นของงานทั้งหมดเมื่อประกอบเข้าด้วยกัน คือแนวทางการวิเคราะห์การเมืองไทยของเบนผ่านวิธีเปรียบเทียบสองมิติ ได้แก่ มิติร่วมพื้นที่-ข้ามเวลา และมิติร่วมเวลา-ข้ามพื้นที่ อันเป็นความถนัดของเบนเสมอมา ดังหนังสือเล่มหนึ่งของเขาที่ตั้งชื่อว่า The Spectre of Comparisons (1998) ซึ่ง 4 บทความในหนังสือเล่มนี้ก็นำมาจากหนังสือเล่มดังกล่าว

ราวกับเบนในฐานะพ่อมดหมอผีกำลังบอกว่า ถ้าอยากเห็นโฉมหน้าแท้จริงของ “ปีศาจ” ก็ลองมองผ่านกล้องมิติพิศวงนี้ดูสิ ว่าแล้วเบนก็พลิกแกนสมมติฐานเรื่องรัฐไทย ซึ่งทำให้เราต้องขยี้ตาแล้วมองบทบาทของราชวงศ์จักรีเสียใหม่ ลองนึกดูว่าเมื่อตอนที่เบนชี้ว่า สยามโชคร้ายที่ตกเป็นอาณานิคมทางอ้อม ราชวงศ์จักรีสร้างความทันสมัยในลักษณะที่คล้ายกับรัฐบาลของระบอบอาณานิคม และการเปลี่ยนผ่านที่ไม่สมบูรณ์จากสมบูรณาญาสิทธิ์ไปสู่รัฐประชาชาติก่อให้เกิดปัญหานานัปการ ปีนั้นคือปี 1979 หรือ 36 ปีที่แล้ว ! กระทั่งปัจจุบัน คนจำนวนมากก็ยังมองไม่เห็นปีศาจตนนี้

เบนใช้กล้องเดียวกันนี้ในการสืบเสาะหาตัวฆาตกรที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 1976 ปรากฏว่ากล้องนี้ส่องลึกไปจนเห็นถึงความคิดจิตใจอันปั่นป่วนสุดขีดคลั่งของกระฎุมพี ซึ่งเป็นฐานหรือเครื่องมือให้กับขบวนการฝ่ายขวาในการสังหารโหดนักศึกษาฝ่ายซ้าย คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า นักสืบเบนผู้มีอุปกรณ์คู่กายเป็นกล้องมิติพิศวงนี้สนอกสนใจเหตุการณ์นองเลือดเป็นพิเศษ ในบทความ “ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคใหม่” (1990) เบนได้กลิ่นฆาตกรรมไม่ชอบมาพากลจากการดูหนังเรื่อง มือปืน ซึ่งกระตุ้นให้เขาเริ่มวิเคราะห์เปรียบเทียบเหตุฆาตกรรมทางการเมืองของสยามในห้วงเวลาต่างๆ ก่อนจะชี้ว่าในช่วงทศวรรษ 1980 กระฎุมพีเริ่มฆ่ากันเองด้วยเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรเริ่มมีมูลค่าทางการตลาดอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ในปาฐกถา “สองนครเลือด : จากดิลีถึงกรุงเทพฯ” (1992) เบนได้เปรียบเทียบเหตุการณ์พฤษภา 1992 ในประเทศไทย กับการสังหารหมู่ในดิลีเมื่อปี 1991 ในประเทศอินโดนีเซีย (ณ ขณะนั้น) ซึ่งก็คือการเปรียบเทียบในมิติร่วมเวลา-ข้ามพื้นที่นั่นเอง และเราก็ต้องตกใจที่ถูกทำให้ตระหนักว่า ทั้งปีศาจอย่างกองทัพไทยและกองทัพอินโดนีเซีย ต่างก็ถือกำเนิดจากลัทธิจักรวรรดินิยม และสังหารคนในชาติมากกว่าคนต่างชาติ จะต่างออกไปก็ในแง่ที่ว่า กองทัพอินโดนีเซียเคยสู้รบเพื่อเอกราชจริงๆ ในการต่อต้านการกลับเข้ามาของดัตช์ ขณะที่กองทัพไทยไม่เคยมีเกียรติภูมิทำนองนั้นเลย

นอกจากเรื่องกองทัพแล้ว เบนยังหยิบยกประเด็นสำคัญๆ ซึ่งเป็นแกนกลางของการศึกษาการเมืองสมัยใหม่ขึ้นมาอภิปรายเปรียบเทียบอย่างลุ่มลึกด้วยกล้องพิศวงสองมิตินี้ เช่น ในบทความ “การเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (1996) เบนสืบสาวเส้นทางการเกิดขึ้นของลัทธิเลือกตั้งในไทย-ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย เขาเขียนบทความนี้ไม่นานหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ซึ่งชนชั้นกลางไทยลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหารเพื่อรักษาระบอบเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งในอีกสองประเทศที่ยังล้มลุกคลุกคลาน เบนจึงสรุปว่าไทยโชคดีกว่าอีกสองประเทศ หลายคนคงอยากเถียงกับเบนเมื่อมองดูสถานการณ์การเลือกตั้งไทยหลังจากบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์มาร่วม 2 ทศวรรษ

อีกบทความที่สนุกและลุ่มลึกยิ่งของเบน คือ “ชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อย” (1987) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นซึ่งเบนมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือขบวนการชาตินิยมทางการในจักรวรรดิพหุชาติพันธุ์ แม้ในบทความนี้เบนจะไม่ได้ใช้ไทยเป็นกรณีศึกษาหลัก แต่เราก็เห็นอะไรได้มากจากการที่เบนชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องชนกลุ่มใหญ่-ชนกลุ่มน้อยถือกำเนิดขึ้นในฐานะเครื่องมือของการปกครองอาณานิคม และการเมืองชาติพันธุ์นั้นเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางชนชั้นและศาสนาอย่างแยกไม่ออก เมื่อเราเห็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างเจ้าอาณานิคมผิวขาวกับนักชาตินิยมท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้าน ในการกะเกณฑ์พันธมิตรชาติพันธุ์กลุ่มน้อยเข้ามาเป็นพวก เพื่อคัดง้างความชอบธรรมของเจ้าอาณานิคม เราก็อาจตั้งคำถามกับตัวเองได้วา ขบวนการชาตินิยมในประวัติศาสตร์ไทยนั้นหลงทิศผิดทางหรือไม่ที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่นักล่าอาณานิคมภายในเลย และนี่อาจตรงกับสมมติฐานที่เบนตั้งไว้คือสยามน่าจะเป็นประเทศสุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กลายเป็น “รัฐประชาชาติ”

กล้องของเบนที่ประดิษฐ์ขึ้นจากวิธีวิทยาเปรียบเทียบสองมิติ นอกจากส่องเห็นปีศาจแล้ว ที่อัศจรรย์คือมันฉายให้เห็นตัวละครผู้กระทำการในหน้าประวัติศาสตร์อย่างหลากหลายยิ่ง คงไม่จำเป็นต้องกล่าวแล้วว่าเบนให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ mentality ของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นนักล่าอาณานิคมผิวขาว กษัตริย์ท้องถิ่น ผู้นำกองทัพ และนักการเมือง กระนั้นก็ตาม กล้องนี้ยังส่องเห็นชีวิตจิตใจของคนเล็กๆ จำนวนนับไม่ถ้วน ตั้งแต่นักชาตินิยมผู้หาญกล้า (ซึ่งเบนเตือนว่าอย่าได้หลงลืมพวกเขาเป็นอันขาด) ชนกลุ่มน้อยชาวจีน (ผู้เป็นพลังและตัวแปรสำคัญเสมอในการเมืองสมัยใหม่) คนอีสาน (ผู้ถูกหมิ่นแคลนเสมอในสื่อไทย) ชาวอิเรียนตะวันตก ชาวติมอร์ตะวันออก ชาวเขา ชาวเล ตลอดจนชนกลุมน้อยอื่นๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่เบนอภิปรายถึงอย่างละเอียดเป็นพิเศษก็คือคอมมิวนิสต์และผู้สืบทอด ในบทความ “แนวคิดมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานหลังลัทธิคอมมิวนิสม์” (1993) เบนเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันของลัทธิคอมมิวนิสม์ในอินโดนีเซีย-ไทย ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงผลงานของนักคิดนักเขียนอินโดนีเซีย-ไทยร่วมสมัย ซึ่งเป็นเสมือนผู้ตรวจสอบ ฟื้นฟู และสืบทอดสายธารความคิดที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโลกอย่างขุดรากถอนโคนให้กลับมามีบทบาทในการเมืองร่วมสมัยอีกครั้ง

ไม่ต้องสังเกตก็เห็นว่า เบนมีน้ำเสียงเสียดเย้ยเสมอเวลาบรรยายถึงพฤติกรรมของผู้มีอำนาจ ขณะที่เวลาพูดถึงคนชายขอบหรือคนที่ถูกกดขี่กระทำทารุณกรรม เขาจะเล่าถึงชะตากรรมของคนเหล่านั้นด้วยน้ำเสียงเห็นอกเห็นใจเสมอ และไม่ลืมที่จะชี้ให้เห็นทางออกของปัญหาด้วย เช่น ในปาฐกถาเรื่อง “คนไร้รัฐ” (2008) เบนอภิปรายเรื่องจุลรัฐด้วยกล้องสองมิติพิศวงเช่นเคย เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีรัฐจำนวนมากที่มีขนาดเล็กและมีประชากรไม่เท่าไหร่ ดังนั้น การที่ชาวมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งถูกกรุงเทพฯ กดขี่เสมอมา จะอยากมีรัฐเป็นของตัวเองนั้นใช่ว่าไร้เหตุผลเสียทีเดียว ทว่าทางออกที่เบนคิดว่าน่าจะเสียเลือดเสียเนื้อน้อยที่สุดก็คือ การปล่อยให้พื้นที่นี้เป็นเขตปกครองตนเองอย่างแท้จริงทั้งในเชิงการเมืองและสัญลักษณ์

นอกจากนี้ ในปาฐกถาเรื่อง “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก” (2011) เบนยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ และคนธรรมดาสามัญตามต่างจังหวัดนั้น เป็น “คนนอก” ในระบอบคณาธิปไตยไทยยิ่งกว่าตนในฐานะนักวิชาการต่างชาติเสียอีก เบนพูดถึง “คนนอก” เหล่านี้คู่ขนานไปกับการจิกกัดชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ว่าขี้ขลาด เห็นแก่ตัว และไม่มีภาพอนาคตของประเทศชาติในหัว พร้อมกันนั้นก็เล่าถึงชะตากรรมของสถาบันกษัตริย์แบบศักดินาของอังกฤษที่จบสิ้นลงไปแล้วและปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยสถาบันกษัตริย์แบบกระฎุมพี เบนบรรยายสามภาพนี้ในปาฐกถาหลังการสังหารโหดคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2010 เพียง 1 ปี เบนไม่ได้พูดตรงๆ ว่าเขาเห็นอนาคตการเมืองไทยอย่างไร เขาเพียงบอกเป็นนัยให้เราคิดเปรียบเทียบภาพเหล่านี้เอาเอง

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งในงานของเบน แอนเดอร์สัน ที่อยากกล่าวทิ้งท้ายไว้คือ ภาษาเสียดเย้ยคมคายอันเป็นเอกลักษณ์หรือลายเซ็นต์ของเบนที่ก่อให้เกิดอารมณ์ขันขื่นอย่างร้ายกาจนั้น เกิดจากการที่เบนชี้ให้เห็นถึง “ความย้อนแย้ง” อันคาดไม่ถึงที่มีเหตุจากความพลิกผันของสถานการณ์ อาทิเช่น รัชกาลที่ 5 เป็นผู้สร้างกองทัพสมัยใหม่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือรักษาความมั่นคงภายในของกษัตริย์เอง แต่แล้วต่อมากองทัพก็หันมาครอบงำการเมืองภายในประเทศและเล่นงานผู้ปกครองแห่งราชวงศ์จักรีที่สร้างมันขึ้นมา กระนั้นก็ตาม กองทัพกลับไม่ได้พยายามทำลายความเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและชาตินิยมของสถาบันกษัตริย์ กองทัพก็เลยมีกษัตริย์ค้ำหัวอยู่ ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงตำแหน่งสูงสุดอย่างที่ซูฮาร์โต ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียทำได้

หรือ จุดอ่อนที่สำคัญมากเพียงอย่างเดียวของผู้ปกครองอาณานิคมซึ่งเกิดจากการกระทำที่เหยียดเชื้อชาติของพวกเขาเอง ก็คือการที่พวกเขานั่นแหละเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างยิ่ง อาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยซ้ำ ผู้ปกครองอาณานิคม (ผิวขาว) เข้ามาล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยที่ในมหานครที่พวกเขาจากมา การปกครองด้วยเสียงข้างมากกลายเป็นบรรทัดฐานของความชอบธรรมทางการเมืองไปแล้ว และเป็นบรรทัดฐานที่กำลังแพร่ขยายเข้ามายังเอเชียอย่างรวดเร็ว ดังนัน แม้แต่ในสายตาของตัวเอง พวกเขาก็กำลังกลายเป็นความไม่ชอบธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คงไม่มีใครปฏิเสธว่างานเขียนและปาฐกถาทางวิชาการของเบน แอนเดอร์สันนั้นครบรสและกลมกล่อมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่มันให้ทั้งความรู้ที่ลึกซึ้งกว้างขวาง ความเข้าอกเข้าใจเห็นใจเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกดขี่ และสุนทรียะทางภาษาในระดับใกล้เคียงกับการอ่านวรรณกรรมชั้นดี คุณูปการของหนังสือเล่มนี้ต่อการศึกษาการเมืองไทยสมัยใหม่คงไม่อาจกล่าวถึงได้หมดในที่นี้ แต่ข้อดีของหนังสือทั้งเล่มคงหมดลงหากเราพอใจแค่ยอมรับคำอธิบายของเบน ทั้งนี้เพราะสปิริตสำคัญที่เบนมอบให้กบแวดวงไทยศึกษา คือการมองรัฐไทยและการศึกษารัฐไทยอย่างวิพากษ์ แน่นอนว่างานของเบนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษารัฐไทยด้วยเช่นกัน เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้จะมีงานไทยศึกษาที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อโต้แย้งด้วยหลักฐาน หรือเสนอมุมมองใหม่ที่แตกต่างจากเบน ดังที่เบนได้เคยแสดงให้เห็นมาแล้วร่วมสี่ทศวรรษ

สุดท้ายสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขอขอบคุณอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ที่ให้ความไว้วางใจสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในการจัดพิมพ์งานรวมบทความและปาฐกถาครั้งนี้ ทั้งยังให้คำปรึกษาในการเลือกบทความและให้แนวทางการแปลด้วย สำนักพิมพ์ยังต้องขอบคุณอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งกรุณาอ่านต้นฉบับแปล ให้คำเสนอแนะ รวมถึงเขียนคำนำเสนอ ขอบคุณอาจารย์เกษียร เตชะพีระ และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ซึ่งกรุณาชี้แนะให้ความเข้าใจในส่วนที่กองบรรณาธิการติดขัดเมื่อตรวจทานต้นฉบับ สำหรับข้อบกพร่องอันอาจมีได้นั้นถือเป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์แต่เพียงผู้เดียว

 

บทที่ 1

  • ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา

บทที่ 2

  • บ้านเมืองเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม

บทที่ 3

  • ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคสมัยใหม่

บทที่ 4

  • สองนครเลือด : จากดิลีถึงกรุงเทพฯ

บทที่ 5

  • แนวคิดมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมูลฐานหลังลัทธิคอมมิวนิสม์

บทที่ 6

  • การเลือกตั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทที่ 7

  • ชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อย

บทที่ 8

  • คนไร้รัฐ

บทที่ 9 

  • มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก
เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา (ปกอ่อน)
คะแนนของคุณ