อ่านจนแตก วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย (ปกอ่อน) ***หนังสือหมด***
ISBN: 9786167158532
ผู้แต่ง : ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
ผู้แปล : พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์
สำนักพิมพ์ : อ่าน
ปีที่พิมพ์ : 2558
จำนวนหน้า : 325
การอ่านจนแตกของอาจารย์ทักษ์คือการนำแนวคิดทฤษฎีอันหลากหลายมาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์ “การเมืองวรรณกรรม” ที่อยู่ในตัวบทวรรณกรรม โดยนำบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมมาร่วมพิจารณา วิธีการดังกล่าวนี้ไม่เพียงช่วยให้เราอ่านตัวบทวรรณกรรมจนแตกเท่านั้น แต่ยังทำให้เรา อ่านความคิด มายาคติ และวาทกรรมการเมืองที่อยู่ในและนอกตัวบทวรรณกรรมจนแตกด้วยเช่นกัน
"หากจะให้พยายามอธิบายการวิเคราะห์วรรณกรรมในงานของอาจารย์ทักษ์ ผมอยากเสนอว่างานของอาจารย์มีลักษณะเป็นการวิเคราะห์การเมืองวรรณกรรม มากกว่าจะเป็นการวิเคราะห์วรรณกรรมการเมือง หรือความคิดการเมืองในวรรณกรรม ดังที่มักจะพบในงานของนักรัฐศาสตร์หรือนักสังคมศาสตร์ที่หันมาสนใจใช้ตัวบทวรรณกรรมเป็นฐานข้อมูลของการวิเคราะห์
"หากวัฒนธรรมคือการเมืองในความหมายกว้างสุด อันได้แก่ชุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม การศึกษาวัฒนธรรมในความหมายนี้จึงเป็นการศึกษาเพื่อทำให้ความเข้าใจความเป็นการเมืองของวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่ผลิตชุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม อันเป็นแนวทางที่นักวัฒนธรรมศึกษาหลากหลายสำนักล้วนให้ความสำคัญ เราอาจกล่าวได้ดุจเดียวกันว่าวรรณกรรมก็คือการเมือง ดังนั้นการเมืองของวรรณกรรมจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะประเภทหนึ่งของวรรณกรรมที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองหรืออุดมการณ์ แต่หมายถึงตัววรรณกรรมเองนั่นแหละคือความเป็นการเมือง กล่าวคือกระบวนการสร้าง การเผยแพร่ การเสพ การตีความ การผลิตซ้ำวรรณกรรม ล้วนมีนัยยะทางการเมืองเรื่องความความสัมพันธ์เชิงอำนาจกำกับอยู่ทั้งสิ้น แม้ว่าวรรณกรรมนั้นๆ จะประกาศตัวว่าเป็นศิลปะบริสุทธิ์ที่ปลอดการเมืองโดยสิ้นเชิงก็ตามที เพราะในท้ายที่สุด ความพยายามที่จะทำให้วรรณกรรมปลอดจากการเมืองก็เป็นการเมืองชนิดหนึ่งเช่นกัน ผมคิดว่านี่คือนัยยะที่เราจะได้พบจากการอ่านบทวิเคราะห์วรรณกรรมในงานของอาจารย์ทักษ์ที่มุ่งมองความเป็นการเมืองของวรรณกรรม"
-- จาก คำนำ โดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ใน "อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย" โดยทักษ์ เฉลิมเตียรณ