(PRE-ORDER จัดส่ง 25/11/67) : The Crack-Up หรือ “แด่ความร้าวราน”
ISBN: 00001
ผู้แต่ง : -
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : TEXT
เรื่องย่อ
The Crack-Up หรือ “แด่ความร้าวราน” เป็นงานชิ้นสำคัญของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ นักเขียนชาวอเมริกันผู้โด่งดังจากต้นศตวรรษที่ 20 ที่ได้เขียนให้กับนิตยสาร Esquire ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ปี ค.ศ. 1936 ประกอบไปด้วย แด่ความร้าวราน (The Crack-Up) ผสานสิ่งที่แตกร้าว (Pasting It Together) และ โปรดจับต้องด้วยความระมัดระวัง (Handle With Care) เป็นผลงานในห้วงเวลาที่ความสร้างสรรค์ หรือความสามารถของเขาถูกมองว่า ‘ตกต่ำลง’
ฟิตซ์เจอรัลด์มีชีวิตร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกับ เออร์เนส เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) วิลเลียม โฟลกเนอร์ (William Faulkner) และ จอห์น ดอส ปาสซอส (John Dos Passos) เขาเป็นนักเขียนระดับตำนาน เป็นตัวแทนของ Lost Generation คำเรียกกลุ่มนักประพันธ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่บัญญัติโดย เกอร์ทรูด สไตน์ (Gertrude Stein) นักเขียนหญิงชาวอเมริกันผู้ย้ายไปตั้งรกรากยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ผลงานสร้างชื่อและฐานะให้กับฟิตซ์เจอรัลด์คือ This Side of Paradise นวนิยายเล่มแรกที่ตีพิมพ์ในปี 1920 ซึ่งว่าด้วยชีวิตของคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันยุคแจ๊ส (Jazz Age) เป็นความสำเร็จชนิดชั่ววันข้ามคืน
“แด่ความร้าวราน” ของฟิตซ์เจอรัลด์ เป็นตัวบทที่มีความสำคัญสำหรับ ฌิลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) อย่างน้อยก็คือข้อค้นพบสำคัญเกี่ยวกับชีวิตที่ฟิตซ์เจอรัลด์ พยายามบอกเล่าออกมานั้นก็สอดพ้องต้องตรงกับปรัชญาแห่งเหตุการณ์ (philosophy of event) ของเดอเลิซ ”แน่นอนว่า ชีวิตคือกระบวนการพังทลาย…” คือการสรุปสิ่งที่ ฟิตซ์เจอรัลด์พยายามจะบอกเกี่ยวกับการพังทลายของตัวเขาเอง การแตกสลายที่เกิดขึ้นภายใน ซึ่งกว่าจะรู้ได้ก็เมื่อสายไปแล้ว สำหรับเดอเลิซ เส้นของรอยแตกร้าวมีมากกว่า 1 แบบ และเขาได้แลเห็นเส้นแตกร้าวในงานของฟิตซ์เจอรัลด์ ถึง 3 แบบ 1) เส้นรอยที่ชัดเจนอันเกิดจากภาวะขั้วตรงข้ามความยากจน-ร่ำรวย ความสำเร็จ-ล้มเหลว ชีวิตคู่-ชีวิตที่โดดเดี่ยว 2) เส้นรอยที่บางเบาแต่ฝังลึกลงไป เป็นสิ่งที่ยากจะแลเห็นได้ เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเชื่อ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นข้างใน 3) เส้นรอยสุดท้ายเป็นเส้นที่แยกตัวออกมาจากสองเส้นรอยแรก มันเป็นเส้นรอยของความเปลี่ยนแปลงที่นำพาเราไปสู่สิ่งใหม่ สิ่งที่เราไม่รู้ มันคือเส้นที่เปิดทางให้เราสัมผัสรับรู้ชีวิตใหม่ หรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เดอเลิซ เรียกว่า Line of flight นั่นเอง
การอ่าน “แด่ความร้าวราน” จะทำให้ผู้อ่านได้มองเห็นเส้นรอยต่างๆ ที่ฟิตซ์เจอรัลด์ และเดอเลิซได้ค้นพบ เส้นรอยที่ทำให้เราค้นพบความหมายในความแปรเปลี่ยนของชีวิต ที่แน่นอนว่าสำหรับเดอเลิซและฟิตซ์เจอรัลด์ แล้วกลับลึกลับยิ่งกว่าความตาย
ขนาด
10X14.3 CM
192 หน้า
Literary Text Series
จัดพิมพ์โดย สนพ. TEXT