ฌ้าคส์ ลาก็อง : 10 มโนทัศน์ในพรมแดนชีวิต
ISBN: 9789743157851
ผู้แต่ง : ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : Text (เครือสยามปริทัศน์)
ปีที่พิมพ์ : 2555
จำนวนหน้า : 321
“ฌ้าคส์ ลาก็อง : 10 มโนทัศน์ในพรมแดนชีวิต” (Jacques Lacan : 10 concepts in the terrain of living) เป็นหนังสือที่มีจุดเริ่มต้นจากการพูดคุยสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างบรรณาธิการและผู้เขียนไปทีละประเด็น ค่อยๆ เขียนไปทีละบท เกี่ยวกับมโนทัศน์ต่างๆ ของนักจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศสท่านนี้
การทำความเข้าใจทฤษฎีต่างๆ ของลาก็องไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้สำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องด้วยลักษณะทางความคิดและทฤษฎีที่มีความสลับซับซ้อน มีความเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง อีกประการหนึ่งคือ ลาก็องได้พัฒนามโนทัศน์ของเขาอย่างต่อเนื่องในช่วงชีวิตของเขา ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้ผู้ศึกษาเกิดความสับสน หากไม่ได้ติดตามงานของเขาอย่างใกล้ชิด
ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย ได้ใช้ความพยายามในการถ่ายทอดมโนทัศน์ต่างๆ ของลาก็อง ทั้ง 10 มโนทัศน์ ออกมาอย่างดีที่สุดในพื้นที่อันจำกัดของหนังสือ สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากคือผู้เขียนได้นำทฤษฎีที่มีความเป็นนามธรรมสูง มาอธิบายสิ่งเกิดขึ้นในสังคมได้ดีและมีความเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น
การพินิจตัวตนของคนให้ออกคือการมองชนิดแทงทะลุถึงจิตไร้สำนึกของพวกเขา
มันเป็นอาณาบริเวณที่โปร่งใสที่สุดต่อการประกาศซึ่งตัวตนและความปรารถนาของคน
แต่เรื่องน่าเศร้าก็คือจิตไร้สำนึกถูกพูดออกมาโดยตัวของคนเองแบบตั้งใจไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีอยู่ แต่พูดไม่ได้
มันจึงดูผิวเผินเหมือนกับสิ่งที่กลืนหายไปในตัวของคน อย่างไรก็ตาม จิตไร้สำนึกก็คือภาษา
เพราะมันมีโครงสร้างมาจากภาษา (unconscious is structured like a language)
การจะตีความจิตไร้สำนึกคือต้องอาศัยภาษาเท่านั้น โดยเหมือนกับนักจิตวิเคราะห์ต้องคอยดักจับจังหวะในยามที่
คนคนหนึ่งพูดอะไรบางอย่างออกมา จากนั้นก็ย้อนกลับให้เขาฟังว่า เขามีอะไรบางอย่างที่เขาไม่รู้ตัวว่าเขามี/เขาเป็น
เหมือนที่ลาก็องไม่รู้ตัวว่าตัวเขาเป็นเฮเกอเลี่ยนแบบแอบแฝงนั่นเอง ดังนั้น การจะทะลวงถึงจิตไร้สำนึกของใครสักคน
ภาษาที่คนคนหนึ่งใช้ออกมาซึ่งแอบแฝงอะไรหลายๆ อย่าง คือสิ่งที่นักจิตวิเคราะห์ต้องถอดความให้ออก
จากนั้นก็พูดในลักษณะหมุนข้อความลับ (inverted message) ไปให้เขาฟังว่า สิ่งที่เขาพูดออกมา
มันแสดงให้เห็นว่าเขามีอะไรบางอย่างในตัวมากกว่าที่เขารู้ตัวเสียอีก (there is something in you more than your own realization) ข้อความที่ กระดอนกลับไปที่เดิม มันมีข้อความที่หมุนกลับไป มากกว่าเดิม เสียอีก
แม้ว่าด้วยจิตสำนึกแล้วลาก็องจะบอกตัวเองเสมอว่าเขาเป็นผู้นิยมฟรอยด์และเป็นพวกไม่เห็นด้วยกับเฮเกอ
(anti-Hegelian) แต่ลาก็องก็ไม่รู้ตัวว่า เขากำลังพูดถึงเฮเกอ แถมกำลังคิดได้เหมือนอย่างเฮเกอในหลายๆ
ประโยคในงานเขียนของเขาเอง เพราะคำหลายคำที่ปรากฏว่าลาก็องหลุดมันออกมาในงานเขียนอย่างคำว่า objective determination มันคืออิทธิพลของเฮเกอ และยิ่งกว่านั้นอาจจะมี คาล มาร์กซ์ (Karl Marx) มาประกบติดอยู่
ชนิดที่ตัวของลาก็องเองไม่รู้ตัวเลยก็ได้ แถมคำในงานเขียนของลาก็องยังมีคำอย่าง negation อีกด้วย
ซึ่งคำศัพท์พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นของเฮเกอ จนอาจกล่าวได้ว่า ลาก็องเป็นฟรอยเดียนโดยรู้ตัว แต่เป็นเฮเกอเลี่ยนโดยไม่รู้ตัว
อีกนัยหนึ่งก็คือ ลาก็องเป็นฟรอยเดียนในระดับจิตสำนึก แต่เป็นเฮเกอเลี่ยน (และบางทีเป็นมาร์กซ์ซิส) ในระดับจิตไร้สำนึก
คือทั้งหมดเกิดขึ้นแบบที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย