ช่างสำราญ นวนิยายรางวัลซีไรต์ ปี 2546 (ปกอ่อน)
ISBN: 9786165942829
แปลจากหนังสือ : -
ผู้แต่ง : เดือนวาด พิมวนา
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : สามัญชน
ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 21 ตุลาคม 2565
จำนวนหน้า : 200
ช่างสำราญ โดย เดือนวาด พิมวนา
นวนิยายรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2646
พิมพ์ครั้งที่ 21 ตุลาคม 2565 ปกอ่อน (ปกปีก)
เสนอภาพชีวิตที่สะท้อนให้เห็นถึงสายใยในสังคมเล็ก ๆ ที่หลงเหลืออยู่
ด้วยการเล่าเรื่องอย่างมีลักษณะเฉพาะตัว ชวนติดตามตลอดเล่ม
ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จัดพิมพ์และจำหน่ายในสหรัฐอมเริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
มีคำประกาศคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ และสุนทรพจน์ผู้เขียนเนื่องในโอกาสเข้ารับพระราชทานรางวัลซีไรต์
“ความหรรษาที่เจือความขมปร่าของชีวิตซึ่งคุณอาจจะยิ้มนิดๆ ในความเชื่อใสไร้เดียงสา หรืออาจปาดน้ำตาถอนสะอื้น อยากยื่นมือออกไปช่วยเหลือและเอื้อใจออกไปโอบอุ่น หรืออย่างน้อยก็ไม่เบือนสายตาเมินหน้าหนี
.นี่คือนิยายที่เรียบง่ายและงดงาม เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความฝัน และความเชื่อมั่นศรัทธาในด้านดีของจิตใจมนุษย์
.นี่คือซุ่มเสียงแห่งความเงียบงันของยุคสมัยที่ผู้คนรีบเร่งตะกายฝันแข่งขันกันไปสู่ดวงดาวจนมองไม่เห็นรอยร้าวบนฐานราก หรือรูรั่วบนหลังคาสลัมเบื้องล่าง กระทั่งจานอาหารที่ว่างเปล่า เสียงหัวเราะ และร้องไห้
.นี่คือชีวิตชนิดใด ผู้เขียนได้ตั้งคำถามและเชื้อเชิญให้เราได้ทอดสายตามอง เอื้อมมือออกไปสัมผัส และเปิดหัวใจออกไปสดับรับฟังเรื่องราวอันแสนจะธรรมดาสามัญทั้งหลายทั้งปวงนั้นในมุมมองที่แตกต่างออกไปจากความคุ้นชินเดิมๆ เรื่องราวของผู้คนเล็กๆ ในชายขอบนาคร ซุกซ่อนตัวเองอยู่หลังตึกสูงและกำแพงหนาทึบ เป็นชุมชนห้องแถวที่ไร้ชื่อ หากเสมือนหนึ่งภาพจำลองของชุมชนมนุษย์บนโลกกลมๆ ใบนี้ผ่านชีวิตของเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่งกับผู้คนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง
.ก่อนที่ผู้เขียนจะถอยห่างออกมาอย่างมีมารยาท ไม่คาดคั้นเอาคำตอบไม่ได้เทศนาสั่งสอนหรือไล่ต้อนเราด้วยลีลาดุเด็ดเผ็ดร้อน หากเล่าด้วยเสียงเอื้ออาทรอ่อนโยนแบบผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน มีอารมณ์ขันที่แม้จะเจือความขื่นและเสียดเย้ยอยู่บ้างในที แต่ก็มิได้ทำตัวเป็นนักมนุษยธรรมหน้าแป้นพิมพ์ดีด ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองโลกในแง่ดีหรือร้ายจนเกินไป ผู้เขียนมองโลกมนุษย์อย่างที่มันเป็น---เป็นกลางๆ และมีความหวังเต็มเปี่ยมในชีวิตว่าคนดีและสิ่งดีๆ ยังมีอยู่ และโลกที่สุขสันติหรือสังคมในอุดมคตินั้นเป็นจริงได้โดยเริ่มต้นจากข้างในจิตใจของมนุษย์นี่เอง ขอเพียงเขาเลิกก่อกำแพงกักกั้นกีดกันตัวเองจากคนอื่น และหันมาสร้างสะพานแห่งความรัก ความเข้าใจ โยงสายใยเอื้ออาทรสู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โลกนี้ก็แสนหฤหรรษ์และ ช่างสำราญ”
-[คำประกาศรางวัลซีไรต์ ประจำปีพุทธศักราช 2546]
‘มนุษย์ตะกายฝันไปสู่ดวงดาว จนมองไม่เห็นร้อยร้าวบนฐานราก’