Kledthai.com

ตะกร้า 0

นิยายเบงคลี

ISBN: 9786167122021

ผู้แต่ง : เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

ผู้แปล : -

สำนักพิมพ์ : ศยาม

ปีที่พิมพ์ : 2552

จำนวนหน้า : 375

ซีรี่ส์:
-
พร้อมส่ง
ISBN:
9786167122021
ราคาพิเศษ ฿216.00 ราคาปรกติ ฿240.00

นิยายที่มีเนื้อหาสาระของเรื่องเป็นวรรณกรรมนิทานเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง และเนื่องจากภาษาเบงคลีมารากศัพท์มาจากสันสกฤต ผู้แปลจึงจัดทำภาคผนวก อธิบายข้อความเพิ่มเติมเป็นเชิงอรรถและอธิบายคำศัพท์ ที่มาของศัพท์ต่างๆ ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมกว้างขวางขึ้นอีก ในจำนวนนิทานทั้งหมด 23 เรื่อง หากอ่านเพียงเพื่อความเพลิดเพลินอย่างเดียว ก็จะได้รับความบันเทิงอย่างเติมรูปแบบ อีกทั้งบางครั้งอาจจะสะดุดในนิทานบางเรื่องของอินเดียที่มีเค้าเหมือนในนิทานพื้นบ้านและวรรณคดีไทยด้วยเช่นกัน ดังเช่น เรื่องท้าววิกรมาทิตย์เลือกคู่ มีลักษณะเหมือนพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องสังข์ทอง โดยเฉพาะตอนเลือกคู่ จนถึงตอนลูกเขยหาปลาหาเนื้อ และเรื่องเทพธิดาอิตุ ที่เหมือนเรื่องนางสิบสอง ตอนพ่อแม่พาลูกสิบสองคนทิ้งในป่า และอีกหลากหลาย สนุกสนาน เพลิดเพลินจนวางไม่ลงเลยทีเดียว

ผู้ที่ได้อ่านนิยายเบงคลีอย่างละเอียดแล้ว จะประจักษ์แจ้งว่าเป็นหนังสือที่ดีทั้งการค้นหาและความรู้และสำนวนที่แต่งอย่างแท้จริง

ความดีเด่นในด้านสำนวนโวหารในการประพันธ์ของพระยาอนุมานราชธนนั้นเป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว ในที่นี้จึงยังจะไม่กล่าวถึง แต่ความดีเด่นในด้านการค้นคว้าและแสดงความรู้นั้น นิยายเบงคลีเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่จะนำมาอ้างได้อย่างดี

เมื่ออ่านเฉพาะตัวเรื่องนิทาน จะเห็นว่านิยายเบงคลีเป็นเพียงเรื่องธรรมดาๆ ที่มีแนวเรื่องคือการเอาชนะผู้อื่นด้วยไหวพริบ เนื้อเรื่องจึงเกี่ยวกับการใช้กลลวงเพื่อเอาชนะฝ่ายที่ด้วยกว่า ซึ่งมักจะเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญาและไม่ละเอียดรอบคอบ แม้จะพยายามใช้เล่ห์กลอย่างไร ในที่สุดก็ยังเพลี่ยงพล้ำแก่คนที่มีไหวพริบได้ เช่น  เรื่อง ‘กลต่อกล’ พราหมณ์ผู้หนึ่งใช้กลลวงหญิงสาวผู้หนึ่งมาจากพ่อแม่ของนาง แต่นางฉลาดกว่า กลับใช้กลแก้ตอบจนสามารถฆ่าพราหมณ์ผู้นั้นได้ และยังใช้กลปราบหมู่โจรต่อไปอีกด้วย ผู้แต่งเน้นความสำคัญของเชาว์ปัญญาไว้มาก ดังเช่น เรื่อง ‘มีความรู้หรือเชาวน์ดี’ เจ้าชายองค์หนึ่งกับบุตรมนตรีผู้หนึ่งโต้เถียงกันว่า ความรู้หรือเชาวน์ปัญญาจะดีกว่ากัน เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็แยกกันออกเดินทางไปผจญภัยเพื่อหาคำตอบ เจ้าชายผู้เชื่อว่าความรู้เหนือกว่าปัญญากลับต้องเสียรู้เจ้าหญิงองค์หนึ่ง ทำให้ตกเป็นทาสหาบน้ำให้นาง ส่วนบุตรมนตรีผู้เชื่อว่าเชาวน์ปัญญาเหนือกว่า สามารถพิชิตรากษสีได้ พระราชาจึงยกราชธิดาให้ ต่อมาก็ปราบรากษสอีกตนหนึ่ง และรู้เวทมนต์จนสามารถนำไปใช้ปลดปล่อยเจ้าชายเป็นอิสระได้ ในขณะที่เน้นคุณของเชาวน์ปัญญา ผู้แต่งก็ ชี้ให้เห็นโทษของความโง่เขลาด้วย ดังเช่น เรื่อง ‘ตากาไหนพนักงานสวน’ ตากาไหนมีโอกาสดีได้เกาะหางช้างเอราวัณขึ้นไปเที่ยวสวรรค์ เมื่อกลับมาเล่าให้ภรรยาฟัง ทุกคนพากันมาขออาศัยตากาไหนเกาะหางช้างขึ้นสวรรค์ด้วย ขณะที่กำลังเหาะอยู่นั้น ภรรยาถามว่าหมาก และขนมที่ได้ไปกินในสวรรค์ขนาดใหญ่เท่าใด ตากาไหนก็ปล่อยมือจากหางช้างเพื่อทำมือให้ดู ทุกคนจึงร่วงลงมาตายหมด

ด้วยเหตุที่เป็นนิทานชาวบ้าน นิทานหลายเรื่องในนิยายเบงคลีจึงแสดงความเชื่อต่างๆ ซึ่งคงจะหลากหลายตามกลุ่มของผู้ฟัง แม้จะมีแก่นเรื่องหลัก คือคุณค่าของเชาวน์ปัญญา  แต่การดำเนินเรื่องได้เน้นความเชื่อไว้อย่างเด่นชัด เช่น ความเชื่อในอำนาจของพระศิวะตามนิกายไศวะ ในเรื่อง ‘พราหมณ์กินพรหม’ ความเชื่อในอำนาจของพระนารายณ์ตามนิกายไวษณพ ในเรื่อง ‘กาไหนหลานพราหมณ์เฒ่า’ ความเชื่อเรื่องกรรม ในเรื่อง ‘กรรมลิขิต’ และความเชื่อเรื่องพิธีกรรม ในเรื่อง ‘เทพธิดาอิตุ’

นิทานสัตว์ปรากฏอยู่เพียงเรื่องเดียวในนิยายเบงคลี คือเรื่อง ‘แพะ เสือ ลิง’ แก่นเรื่องหลักยังคงเป็นการใช้เชาวน์ปัญญาเพื่อพิชิตศัตรูอีกเช่นกัน พ่อแพะพูดล่วงเสือให้กลัวโดยแกล้งดุลูกว่ากินเสือไปห้าตัวแล้วยังไม่พอหรืออย่างไร แล้วสัญญาว่าจะจับเสือให้กินอีกตัว เสือตกใจรีบหนีไปทันที เมื่อเล่าให้ลิงฟัง ลิงก็ว่าเป็นเพียงแพะเท่านั้น แล้วจึงพาเสือกลับมาที่เดิม พ่อแพะกลับเอชนะได้ด้วยไหวพริบโดยแกล้งร้องบอกว่าลิงได้ทำตามสัญญา ล่วงเสือมาให้ตนแล้ว เสือหลงกลจึงหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต

จุดเด่นของนิยายเบงคลีจึงมิได้อยู่ที่ความสนุกสนานของเนื้อหา แต่อยู่ที่ ‘ความรู้อันรุ่งโรจน์’ ในอรรถาธิบายซึ่งเดิมเป็นเพียงตัวประกอบ แต่ในที่สุดก็แสดงบทบาทสำคัญจนกลายเป็นตัวเอกของเรื่องไป

เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:นิยายเบงคลี
คะแนนของคุณ