Kledthai.com

ตะกร้า 0

ฟูโกต์กับลัทธิเสรีนิยมใหม่

ISBN: 9786168215265

ผู้แต่ง : ชีรา ทองกระจาย

ผู้แปล : พิพัฒน์ พสุธารชาติ : บรรณาธิการ

สำนักพิมพ์ : Illuminations Editions

ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 1 พฤศจิกายน 2563

จำนวนหน้า : 412

ซีรี่ส์:
-
พร้อมส่ง
ISBN:
9786168215265
ราคาพิเศษ ฿405.00 ราคาปรกติ ฿450.00

มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault, ค.ศ. 1926-1984) เป็นนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก งานของเขามีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั้งในตะวันตกและประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา ฟูโกต์ถูกนักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่าให้ความสนใจต่อลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และมองว่า ‘เสรีนิยมใหม่’ เป็นรูปแบบของการเมืองที่มีความเป็นราชการน้อยกว่า มีการควบคุมทางวินัยน้อยกว่าบรรดารัฐสวัสดิการต่างๆ ในยุโรปที่เกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นอย่างมาก การวิจารณ์เช่นนี้นำไปสู่การถกเถียงอย่างรุนแรงในหมู่ปัญญาชนผู้เชี่ยวชาญด้านฟูโกต์ตามเว็บไซต์และบล็อกต่างๆ

 หนังสือเล่มนี้ซึ่งรวมบทความที่เขียนโดยนักวิชาการตะวันตกและนักวิชาการไทย เป็นการอธิบายว่าฟูโกต์เห็นดีกับเสรีนิยมใหม่ หรือไม่ อย่างไร? หนังสือแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรกเป็นการกล่าวถึงความคลุมเครือของ ‘เสรีนิยมใหม่’ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาคสอง ซึ่งพูดถึงเรื่องอื้อฉาวของฟูโกต์กับเสรีนิยมใหม่

 หนังสือ ‘ฟูโกต์กับเสรีนิยมใหม่’ เล่มนี้ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจฟูโกต์ในอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน

สารบัญ

คำนำ   

โดย พิพัฒน์ พสุธารชาติ

ภาค 1  ความคลุมเครือของเสรีนิยมใหม่

บทที่ 1 แนวทางศึกษาเสรีนิยมใหม่

โดยดาเมียน คาไฮล์, เมลินดา คูเปอร์, มาร์ทิน โคนิงส์ และเดวิด พริมโรส

บทที่ 2 ภูมิประวัติศาสตร์ของ “เสรีนิยมใหม่”การคิดใหม่ถึงความหมายของฉลากทางวิชาการที่เปลี่ยนแปลงและขยับเขยื้อนได้

โดย อาร์โนด์ เบรนน์โต

บทที่ 3 การเดินทางของเสรีนิยมใหม่ใน 3 ทวีป

โดย วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

บทที่ 4

ฟูโกต์และแนวคิดเสรีนิยมแบบออร์โด

โดย กนกนัย ถาวรพานิช

ภาคที่ 2 เรื่องอื้อฉาวของฟูโกต์กับเสรีนิยมใหม่

บทที่ 5 ฟูโกต์กับการโต้เถียงเรื่องเสรีนิยมใหม่

โดย มิทเชลล์ ดีน

บทที่ 6 เสรีนิยมที่ปราศจากมนุษยนิยม: มิเชล ฟูโกต์และลัทธิตลาดเสรี, 1976-1979

โดย ไมเคิล ซี. เบห์เรนท์

บทที่ 7 สำหรับมิเชล ฟูโกต์ “แฮมเบอร์เกอร์” อร่อยจริงหรือเปล่า?

โดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

บทที่ 8 เมื่อเสรีนิยมใหม่ปล้นชิงประชาธิปไตย: ฟูโกต์ของเวนดี บราวน์

โดย ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี

.......................................

บทปริทรรศน์หนังสือ ‘ฟูโกต์กับเสรีนิยมใหม่’

โดย ชีรา ทองกระจาย

มิเชล ฟูโกต์ เป็นนักวิชาการปรัชญา และนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานของเขาไม่เพียงแต่มีคุณูปการต่อการศึกษาสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ แค่ยังทรงอิทธิพลต่อแนวคิดและกระบวนการทางการเมืองตั้งแต่ช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ในประเทศฝรั่งเศสเอง ฟูโกต์มีอิทธิพลต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปการเมืองฝ่ายซ้าย ที่มีความพยายามจะลดบทบาทความเป็นศูนย์กลางของรัฐ ท่ามกลางความสูญสิ้นความหวังในระบบสังคมนิยม สำหรับนักวิชาการและเหล่าปัญญาชนฝ่ายซ้าย ฟูโกต์เป็นทั้ง “ฮีโร่แห่งฝ่ายซ้าย” ในขณะเดียวกันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “ผู้ทำให้แนวคิดมาร์กซิสม์หายไป” (Démarxisation) จากกระบวนการทางการเมือง อันเนื่องมาจากวิพากษ์ถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่ไม่เพียงพอ ฟูโกต์กลายเป็นที่รักและชิงชัง โดยมีเหตุสำคัญอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดเห็นและจุดยืนที่คลุมเครือของเขาต่อเสรีนิยมใหม่ที่ปรากฏในท่าทีทางวิชาการในช่วงสุดท้ายของชีวิตของเขา

                   บทความเรื่อง ฟูโก้ต์กับการโต้เถียงเรื่องเสรีนิยม โดย มิเชล ดีนน์ (แปลโดย ภาคิน นิมานนรวงศ์ และมนภัทร จงดีไพศาล) และบทความเรื่อง เสรีนิยมที่ปราศจากมนุษยนิยม : มิเชล ฟูโกต์ และลัทธิตลาดเสรี, 1976 – 1979 โดย ไมเคิล ซี เบห์เรนห์ (แปลโดย ทศพล ศรีพุ่ม)  แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างไป โดยบทความแรกได้ให้ความสนใจต่อมุมมองของเสรีนิยมใหม่ต่อความเป็นซับเจค อันเป็นแนวคิดสำคัญของฟูโกต์เอง ในมิตินี้ ฟูโกต์ได้มองเห็นในแนวคิดเสรีนิยมใหม่สำนักอเมริกันนั้นว่า แรงงานไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นเพียงปัจจัยการผลิต แต่เป็นผู้กระทำทางเศรษฐกิจในฐานะมนุษย์ผู้ประกอบการ ที่ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างหลากหลายโดยตัวเอง และเพื่อตัวเอง ซึ่งถือเป็นการเปิดมุมมองในการศึกษาทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การจัดการครัวเรือน การเลี้ยงดูบุตรและสมาชิก การอพยพย้ายถิ่น การประกันชีวิต หรือแม้แต่ชีวิตหลังเกษียณ ในฐานะ “การประกอบการของตนเอง” ทั้งเต็มไปด้วยการลงทุน รายรับรายจ่าย

                   ในบทความหลังได้มุ่งทำความเข้าใจจุดยืนของฟูโกต์ต่อเสรีนิยมเศรษฐกิจซึ่งมีส่วนสนับสนุนต่อความคิดต่อต้านมนุษยนิยม (Antihumanism) ของเขา ซึ่งฟูโกต์มองเห็นจุดร่วมบางอย่างระหว่างสองความคิดนี้ กล่าวคือ เสรีนิยมเศรษฐกิจไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจ ไม่สนใจที่มาที่ไปของอำนาจที่ต้องยึดโยงกับบุคคล องค์อธิปัตย์ สิทธิ สถาบันทางการเมือง กฎหมาย เสรีนิยมเศรษฐกิจปฏิเสธรูปแบบการใช้อำนาจและจำกัดความจำเป็นในการใช้กฎหมายและการแทรกแซงอื่นใด ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของฟูโก้ที่ต้องการหลุดพ้นจากคำอธิบายหรือการอ้างอิงแนวมนุษยนิยมต่ออำนาจและเสรีภาพ สำหรับฟูโกต์ อำนาจคือการจำกัดอำนาจของตัวมันเอง และเสรีภาพก็เปรียบประหนึ่งผลลัพธ์ที่ตามมา

                   สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองบทความสะท้อนร่วมกันและเติมเต็มซึ่งกันและกัน คือ การพยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดเสรีนิยมและตัวฟูโกต์ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ที่เกิดขึ้น เติบโต ก้าวหน้า ในบริบทสังคมการเมืองวัฒนธรรมหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง รวมถึงนำเสนอมิติชีวิตส่วนตัวและเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพและการทำงานของฟูโกต์ ในฐานะนักวิชาการปราดเปรื่อง และทะเยอทะยาน ซึ่งสร้างความกระจ่างแก่การทำความเข้าใจและการนำเสนอเสรีนิยมของฟูโกต์ อีกทั้ง ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและมองเห็นภาพรวมของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่มีส่วนประกอบสร้าง “ความเป็นฟูโกต์” หรือ Habitus ของนักวิชาการผู้เลื่องชื่อคนนี้

                   การเปรียบเทียบมิติแวดล้อมเหล่านี้ว่าเสมือนการแกะลอกเปลือกของหัวหอมทีละชั้น ๆ ของดีนน์ดูเป็นการเปรียบเปรยที่เข้าท่า เพราะมันทำให้เราค่อยเข้าใจแก่นแกนความเป็นฟูโกต์ในฐานะนักคิดของยุคสมัย ไม่ใช่ในฐานะผู้นำกบฏทางความคิด เปลือกนอกชิ้นแรกคือบริบททางสังคมทั้งภายในและภายนอก ในปี 1970 ประเทศฝรั่งเศสได้หลุดออกจากยุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ หรือ Trente Glorieuses หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ความตกต่ำทางเศรฐกิจพร้อมปัญหาคนว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ เชื่อมต่อสู่ยุคสงครามเย็นที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและการแย่งชิงอำนาจระหว่างรัฐชาติมหาอำนาจสองขั้ว

                   เปลือกชั้นที่ 2 คือบริบททางสังคมและการเมืองของฝรั่งเศสเองที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนจากความตกต่ำของระบบเศรษฐกิจเอง และความต้องการการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองแบบเก่าที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง (ในหนังสือใช้คำว่ารัฐรวมศูนย์) ที่ครอบงำการเมืองฝ่ายซ้ายและความคิดทางการเมืองของประเทศ โดยไม่สามารถนำเสนอทางออกใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลให้กับสถานการณ์บ้านเมือง อันเป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “ฝ่ายซ้ายที่สอง”( La deuxième gauche) ที่ต้องการสร้างและเป็นตัวเลือกที่แตกต่างภายใต้ความอึดอัดและความเห็นที่ขัดแย้งต่อแนวคิดสังคมนิยมทางการเมืองแบบเดิม ฝ่ายซ้ายที่สองนี่เองที่ฟูโกต์ให้ความสนใจในแง่ของความโน้มเอียงและเปิดรับต่อเสรีนิยมใหม่ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และในแง่การต่อกรกับความถดถอยและไม่ไปไหนของกรอบคิดแบบมาร์กซิสที่ครอบงำวงการวิชาการ

          และชั้นสุดท้ายของหัวหอม คือ ตัวฟูโกต์เอง ผู้เป็นทั้งนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเคลื่อนไหวตลอดช่วงชีวิตของเขา นักสังคมวิทยา José Luis Moreno Pestaña ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ฟูโกต์ ฝ่ายซ้าย และการเมือง (Foucault, la gauche et la politiqueได้วิพากษ์วิจารณ์ฟูโกต์ว่าเป็นคนที่ไม่คงเส้นคงทางการเมือง ด้วยเหตุเพราะตัวเขาเองก็สลับขั้วการเมืองเป็นว่าเล่น โดยเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสเมื่อสมัยที่เป็นนักศึกษาของ l’Ecole normale supérieure แต่ต่อมาก็ได้สมาทานความเอียงขวาจากกลุ่มการเมือง Gaulliste (ซึ่งอ้างชื่อนี้มาจาก Charles de Gaulle ผู้นำเสรีฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และภายหลังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานธิบดีระหว่าง 1959 -1969) เมื่อเหตุการณ์การประท้วง May 68 ฟูโกต์ผันตัวเองไปสู่ฝ่ายซ้ายจัด จนกระทั่งปี 1970 จึงได้เข้ากับฝ่ายซ้ายที่สอง  และยังถูกกล่าวหาในช่วงสุดท้ายของชีวิตว่าเห็นดีเห็นงามกับเสรีนิยมใหม่อีกด้วย

                   บทความของดีนน์ ให้คำอธิบายถึงความไม่คงเส้นคงวาทางการเมืองนี้ว่าไม่ใช่เรื่องของการแสวงหาสถานะหรือการ “เกาะกระแส” ใด ๆ ซึ่งสอดคล้องกับคำวิพากษ์ของ Pestaña ที่ว่าฟูโกต์ไม่ใช่นักแสวงหาโอกาสที่คิดคำนวณผลได้ผลเสียจากการเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองเพื่อความก้าวหน้าของตัวเองเพียงแค่นั้น แต่เป็นเพราะบริบททางการเมืองและโลกวิชาการที่ทำให้ฟูโกต์ต้องปรับตัวเปิดรับความเปลี่ยนแปลงต่อประเด็นทางวิชาการใหม่ ๆ ที่มีอิทธิพล ณ ขณะช่วงเวลานั้น ๆ ไม่ได้เป็นเพราะฟูโกต์ต่อต้านมาร์กซิสม์เสียเต็มประดาหรือสมาทานเสรีนิยมใหม่มาเป็นความคิดเห็นทางการเมืองสุดตัว แต่ความโน้นเอียงของฟูโกต์ต่อเสรีนิยมเกิดจากความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะทบทวนและพัฒนาหาหนทางการวิเคราะห์เรื่องอำนาจ (ที่เขาผูกพันอย่างมาก) แนวใหม่ที่หลุดจากกรอบคิดเดิม ๆ

                   ดีนน์ยังให้ความเห็นต่อท่าทีเชิงวิชาการที่ทำให้ดูเหมือนว่าฟูโกต์สลับเปลี่ยนขั้วนั้นว่า เป็นเพราะความเป็นนักทดลองของฟูโกต์ “ฟูโกต์ใช้ท่าทีเชิงทดลอง ซึ่งหมายรวมถึงการมีส่วนร่วมในปฏิบัติการหนึ่งๆ หรือที่เขาอาจเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นด้วย “ประสบการณ์” หรือปรับใช้มุมมองที่กำลังปรากฏเพื่อสร้างข้อสรุปเชิงมโนทัศน์ ทฤษฎี และปรัชญา เหตุผลนี้เองฟูโกต์จึงสามารถเข้าร่วมและสำรวจสิ่งที่น่าสนใจใหม่ ๆ โดยไม่ต้องระบุว่าตนคิดเหมือนกันกับสิ่งนั้นทั้งหมด” (หน้า 226) อย่างไรก็ตาม ท่าทีเชิงทดลองนี้ได้ทำให้เกิดการผูกโยงว่าฟูโกต์ได้รับเอาความคิดเสรีนิยม และไม่สามารถสร้างหรือให้ทางออกหรือกลวิธีต่อผลกระทบของเสรีนิยมใหม่ต่อสังคมได้ แต่นั้นก็ทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า เราสามารถสรุปเอาจากงานเขียนเชิงปรัชญาของเขาว่าฟูโกต์มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร ได้เช่นนั้นหรือ

                   หนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะสองบทนี้พยายามให้ความกระจ่างแก่ความคลุมเคลือของความสัมพันธ์ของฟูโกต์และแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเราไม่อาจะฟันธงได้ ทั้งนี้เพราะความคิดแบ่งซ้ายแบ่งขวาก็มีความคลุมเคลือโดยตัวมันเอง (จนถึงขนาดมีคำกล่าวในสังคมฝรั่งเศสว่าเลือกฝ่ายซ้ายได้นโยบายฝ่ายขวา เลือกฝ่ายขวาได้นโยบายฝ่ายซ้าย) และนั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับการที่คุณูปการของความเป็นฟูโกต์ที่ยังจุดประกาย สรรค์สร้างและผลักดันให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ ๆ การทบทวนปมประเด็นต่าง ๆ ในโลกสมัยใหม่ในปัจจุบัน หนังสือเล่นนี้สามารถอ่านได้ในฐานะเพื่อทำความเข้าใจเสรีนิยมใหม่แต่ขณะเดียวกันก็นำเสนอ “วงศาวิทยา”อย่างย่อว่าด้วยฟูโกต์และเสรีนิยมอีกด้วย ที่อาจเป็นที่สนใจไม่เฉพาะผู้ศึกษาปรัชญา ประวัติศาสตร์การเมือง สังคมวิทยา หรือแม้แต่ผู้ศึกษาเศรษฐศาสตร์เองก็ตาม

 ชีรา ทองกระจาย

เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:ฟูโกต์กับลัทธิเสรีนิยมใหม่
คะแนนของคุณ