Kledthai.com

ตะกร้า 0

SELF–SEARCHING คุณค่า ตัวตน คน ละคร

ISBN: 9786167982441

ผู้แต่ง : อรชุมา ยุทธวงศ์

ผู้แปล : -

สำนักพิมพ์ : openbooks

ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2563

จำนวนหน้า : 272

พร้อมส่ง
ISBN:
9786167982441
ราคาพิเศษ ฿405.00 ราคาปรกติ ฿450.00

ผลงานบันทึกชีวิตของ ครูแอ๋ว – อรชุมา ยุทธวงศ์
ผู้ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแอ๊คติ้งโค้ชหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย
หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดเทคนิคและเคล็ดวิชา
ว่าเราจะนำศาสตร์แห่งการละคร
อันเป็นศาสตร์ขั้นสูงที่ถูกยกย่องมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ
มาใช้ในการพัฒนาหน้าที่การงานและชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร
.
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อให้อ่านง่ายๆ
แต่การจะทำได้ตามที่หนังสือเขียนนั้นไม่ง่ายเลย
.
หนังสือเล่มนี้เหมือนกุญแจดอกเล็ก
ที่ใช้ไขเข้าสู่จักรวาลภายในของตัวเรา
เป็นกุญแจที่ไขเข้าไปค้นหาปริศนาแห่งตัวตน
ตามเทคนิคของคนละคร
หลายเทคนิค หลายคนเคยใช้ได้ผลบนเวทีใหญ่
ในภาพยนตร์ ในละครยอดฮิต
ใช้พิชิตปัญหาและข้อขัดแย้ง
ในการทำงานร่วมกันในองค์กรใหญ่

คำนำเสนอ
กระจกแห่งจิตวิญญาณ
ดวงตาแห่งกาลเวลา
ของอรชุมา ยุทธวงศ์
.
ผมรู้จักครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์ ครั้งแรกเมื่อปี 2548 
จากการแนะนำของพี่เก้ง จิระ มะลิกุล 
ตอนนั้นน่าจะเป็นปีท้ายๆ ของการทำนิตยสาร OPEN 
และน่าจะเป็นปีแรกๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ GTH 
บริษัทผลิตภาพยนตร์ชั้นนำของไทย
.
ปลายปี 2547 พี่เก้งปักหลักถ่ายทำ “มหา’ลัย เหมืองแร่" 
จากบทประพันธ์อันลือลั่นของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์
นักเขียนและบรรณาธิการชั้นครู อยู่ที่พังงา
.
ผมขับรถล่องใต้ลงไปสัมภาษณ์
เพื่อทำหนังสือเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนั้น 
อันทำให้มีโอกาสสนทนากับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย 
ซึ่งในที่สุดกลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท GTH 
(ก่อนจะวิวัฒน์เป็น GDH ในภายหลัง)
.
เนื่องจากเส้นทางยาวไกล ผมจึงตัดสินใจพักที่ระนอง 
โดยหารู้ไม่ว่า เช้าวันนั้น วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 
ห่างจากถนนที่ผมขับรถอยู่ออกไปไม่ไกล 
คลื่นสึนามิได้ซัดเข้าฝั่งอันดามันตลอดเส้นทาง 
จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
ของประเทศไทยและของโลก
.
โชคดีที่กองถ่ายปักหลักกันอยู่ที่เหมืองแร่จำลองกลางป่า 
หาใช่สถานที่ริมทะเล และนั่นเป็นวันปิดกล้องวันสุดท้าย 
ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจของชีวิต 
ตามสคริปต์ที่ทุกคนได้รับมอบหมายมา
.
กองถ่ายจึงได้ยินข่าวร้ายผ่านทางโทรศัพท์ 
และยากเกินกว่าจะจินตนาการได้ว่า 
สิ่งที่เกิดขึ้นห่างออกไปไม่ไกล 
สร้างความเสียหายให้มากมายขนาดไหน
.
ปีนั้นเป็นปีที่ผมกำลังตัดสินใจหลายเรื่องสำคัญของชีวิต 
ทั้งเรื่องการงาน เรื่องส่วนตัว ทุกเรื่องล้วนพันพัวเกี่ยวข้อง 
จนคล้ายถูกคลื่นสึนามิซัดเข้าใส่ชีวิตเป็นระลอก
.
ผมมิได้เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนกับผู้ใด 
ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ 
และเปลี่ยนแปรไปในทะเลใจของตนเอง
.
ผมทำหนังสือ “มหา’ลัย เหมืองแร่” 
(The Chemistry of Movie) ออกมาจนแล้วเสร็จ 
เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย แม้รายได้ไม่คุ้มทุน 
แต่ก็นำมาสู่การก่อร่างสร้างธุรกิจใหม่ 
ส่วนหนังสือ “มหา’ลัย เหมืองแร่” ก็กลายเป็นตำราเรียน
ในมหาวิทยาลัย ในคณะนิเทศศาสตร์
.
ผมรู้จักพี่ๆ ที่ GTH ทุกคนจากหนังสือเล่มนั้น 
รวมทั้งครูแอ๋ว อรชุมา ผู้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้
.
หลังการสัมภาษณ์วิธีการโค้ชนักแสดงหน้าใหม่ให้รับบทได้ในเวลาอันสั้น 
และการทำเวิร์คช็อปนักแสดงร่วมกันเพื่อให้การแสดงออกมาสมจริง 
ครูแอ๋วยังทิ้งโจทย์สำคัญไว้ให้ผมอีกหนึ่งข้อ 
คือคำขอให้ช่วยทำหนังสือเบื้องหลังแห่งชีวิตและการงาน
ในฐานะแอ๊คติ้งโค้ชชั้นนำของเมืองไทยอีกหนึ่งเล่ม
.
ผมสัมภาษณ์ครูแอ๋วหลายครั้ง ถอดเทปออกมาให้อ่าน 
แต่ด้วยเหตุผลและปัจจัยนานา 
หนังสือเล่มที่ว่าก็ไม่เคยสำเร็จออกมาเป็นเล่ม 
.
หลังจากนั้น เมื่อคลื่นลูกแล้วลูกเล่าซัดสาดมา 
เราก็ได้แต่พยายามตะเกียกตะกายเอาตัวรอดให้พ้นจากการจมน้ำ 
ยิ่งนานเข้าๆ เราก็ยิ่งถอยห่างจากฝั่งไป
.
ชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์เราก็เป็นเช่นนั้น 
ช่วงเวลากว่าทศวรรษที่คลื่นชีวิตซัด
ให้ห่างจากบ้านหลังน้อยอันอบอุ่นของครูแอ๋ว 
.
ผมเหมือนเรือลำน้อยที่ถูกคลื่นชีวิตซัดไปหลายทิศทาง 
จนไม่สามารถหาทางกลับบ้านที่แท้ของตนเองได้ถูก
.
ในช่วงหนึ่ง ผมไปทำหน้าที่ดำเนินรายการทอล์คโชว์ทางโทรทัศน์ 
ที่ต้องจัดรายการหนักๆ กับแขกรับเชิญทุกวัน 
ครั้งหนึ่งมีโอกาสพบครูแอ๋วในช่วงเวลาสั้นๆ 
ครูแอ๋วได้กระซิบบอกเคล็ดวิชาว่า
“ให้รู้สึกว่า เวทีนี้เป็นของเรา เป็นพื้นที่ของเรา”
.
แม้เป็นเพียงคำสั้นๆ แต่นั่นเหมือนกุญแจสำคัญ
ของอาชีพพิธีกรหรือผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ 
นั่นคือเราต้องจัดการจนเชื่อมั่นว่า 
พื้นที่บนเวทีแห่งนั้นเป็นของเราจริงๆ
.
เมื่อรู้สึกว่าเป็นที่ทางของเรา เราย่อมมั่นใจและผ่อนคลาย 
อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้รายการดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
.
ผมยังคงต้องฝ่าคลื่นและมรสุมอีกหลายครั้ง ทั้งทางการงานและชีวิต 
และคิดว่าครูแอ๋วเอง ก็คงต้องผ่านประสบการณ์เหล่านั้นเช่นกัน 
จนวันหนึ่งเมื่อกลับมาพบกัน
ครูแอ๋ว สาวสวยแห่งสังคมสยามก็ย่างเข้าสู่วัย 70 อย่างสง่างาม 
ส่วนผมนั้น จากเด็กหนุ่มผู้เกรี้ยวกราด ชอบตั้งคำถาม 
ก็กลายเป็นชายวัยกลางคนอายุครบสี่รอบ
.
บ้านหลังน้อยของครูแอ๋วที่เคยใช้เป็นสตูดิโอ
ติวการแสดงให้ผู้คนทั่วฟ้าเมืองไทย กำลังจะถูกยกให้บุตรหลาน
เพื่อปรับเปลี่ยนก่อสร้างให้เข้ากับการใช้งานใหม่ 
ม่านบาหลีที่เคยย้อยร้อยรักคล้ายม่านไทร 
ก็คงเหลือไว้ให้คลี่คลายแต่ในความทรงจำของใครหลายคน
ที่เคยผ่านมาเยือนอาคารหลังนี้
.
ครูแอ๋วมอบต้นฉบับที่ปรับปรุงแล้วให้ผมเมื่อสองปีที่ผ่านมา 
อันเป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังสร้างงานเขียนชุดใหม่ในซีรีส์ ‘ปัญญา’ 
ผมจึงยังไม่มีสมาธิพอที่จะจัดการกับงานชิ้นนี้ได้
.
ผ่านไปอีกหนึ่งปี ครูแอ๋วนัดหมายผมให้ไปพบที่บ้านอีกครั้ง 
ผมบอกกับครูแอ๋วว่า ได้อ่านต้นฉบับแล้ว 
และมีสองข้อที่อยากจะบอกกับครูแอ๋วอย่างตรงไปตรงมา
.
“หนึ่งคือ อยากให้ครูแอ๋วเขียนหนังสือเล่มนี้
เหมือนเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของชีวิต
“สองคือ ถ้าหนังสือเล่มนี้เป็นกล้อง 
ขอให้ครูแอ๋วปรับจากการถ่ายรูปคนอื่นตลอดเวลา 
ให้หันกลับมาถ่ายเซลฟี่ตัวเอง”
.
ในฐานะบรรณาธิการ 
ผมมักบอกกับนักเขียนที่ร่วมงานกันเสมอว่า 
บรรณาธิการมิได้มีหน้าที่ทำให้นักเขียนรัก 
หากแต่มีหน้าที่ทำให้คนอ่านรักงานของนักเขียน
.
บรรณาธิการจึงมีความจำเป็นต้องซื่อสัตย์กับนักเขียนเป็นอย่างยิ่ง 
จำเป็นต้องทำให้นักเขียนกล้าเผชิญหน้ากับความจริงของต้นฉบับ 
ซึ่งก็คือความจริงของตัวนักเขียนเอง 
เพราะมีแต่วิธีการนี้เท่านั้น ที่จะทำให้งานเขียน
หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ ดีขึ้นได้
.
ดังคำของวอลเตอร์ แอนเดอร์สัน 
นักเขียนบทละครชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่า 
.
“Our lives improve 
only when we take chances – 
and the first and most difficult risk 
we can take is to be honest with ourselves.”
.
ชีวิตมนุษย์นั้นจะพัฒนาไปได้ 
ก็ต่อเมื่อเรากล้ารับความเสี่ยง
และความเสี่ยงแรกที่สำคัญที่สุด
ที่เราจำเป็นต้องแบกรับ
คือความซื่อสัตย์กับตนเอง
.
หลังจากดื่มชากันที่เรือนหลังใหม่ 
ครูแอ๋วได้มอบชากล่องใหญ่ข้างในมีหลายกลิ่นรสให้กับผม 
ผมเก็บชากล่องนั้นไว้บนชั้นหนังสือโดยมิเคยเปิดมาดมหรือชงดื่ม 
จนวันเดือนผ่านไป ผมก็เริ่มลืมเลือนชากล่องนั้น
.
ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือปีที่ผ่านมา 
ระหว่างที่เรากำลังจัดวิหารแห่งแสง 
เพื่อเป็นการกล่าวอำลาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 
ครูแอ๋วได้ส่งต้นฉบับที่ผ่านการปรับปรุงมาแล้วมาทางอีเมล 
แต่จนแล้วจนรอด งานที่ไหลมาเป็นระลอกก็ยังคงทำให้ผม
ไม่มีเวลาย้อนกลับมาจัดการกับต้นฉบับครูแอ๋ว
.
จนกระทั่งวันปีใหม่ ครูแอ๋วส่งคำอวยพร 
พร้อมข้อความสั้นๆ มาหาว่า
.
“โญ ปีนี้ครูแอ๋วอายุ 72 แล้ว 
อยากทำหนังสือเล่มสุดท้ายให้สำเร็จ” 
.
ข้อความนี้เพียงข้อความเดียว 
ก็เพียงพอที่จะทำให้ผมละวางการงานอื่นๆ ในปีนี้ไว้ 
แล้วหยิบต้นฉบับของครูแอ๋วมาทำเป็นเล่มแรกของปีนี้
.
นี่จึงเป็นเหตุให้เราได้โอกาสเชิญครูแอ๋ว
มาเยือนสำนักพิมพ์ขนาดเล็กของเรา 
ซึ่งดำเนินงานโดยคนสองคน 
และนั่นคือเหตุผลที่เราไม่อาจผลิตงานจำนวนมากๆ 
ได้ในเวลาอันสั้น
.
วันนั้น ครูแอ๋ว พร้อมน้องปาร์ตี้ศิษย์รัก 
และนักรบ มูลมานัส นักวาดภาพประกอบ 
จึงได้มีโอกาสดื่มชาร่วมกัน 
อันเป็นชาที่ครูแอ๋วมอบให้ผมไว้ 
และผมได้ดื่มมันเป็นครั้งแรกร่วมกับครูแอ๋ว
.
ครูแอ๋วได้มีโอกาสแก้ปมริบบิ้น
เพื่อเปิดอ่านต้นฉบับร่างแรกที่ผ่านการจัดหน้า 
ผมเห็นน้ำตาปริ่มๆ ในดวงตาของครูแอ๋ว 
เราได้สนทนากันยาวนาน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเรื่องรูปเล่ม 
หน้าปก และภาพประกอบกันอย่างราบรื่น สนุกสนาน
เหมือนทุกคนได้เข้าสู่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของการเยียวยา บำบัด 
จนอาจจัดได้ว่าเป็นโมงยามที่งดงามของชีวิต
ของพวกเราทุกคนที่ร่วมสนทนาในบ่ายวันนั้น
.
ดังที่กล่าวมา ครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์ ปีนี้มีอายุ 72 ปีเต็ม 
ถือเป็นวาระมงคลของชีวิต ครูแอ๋วมีลูกศิษย์ติวการแสดงทั่วฟ้าเมืองไทย 
ตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่างพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ อุดม แต้พานิช 
ไปจนถึงรุ่นยอดฮิตอย่างณเดชน์–ญาญ่า 
.
ติวตั้งแต่ดาราอินเตอร์อย่าง จา พนม ผู้ออกตามหาช้าง 
ไปจนถึงดาราบนหลังช้างจาก สุริโยไท 
กระทั่งนายแบงค์กสิกรไทยอย่างคุณบัณฑูร ล่ำซำ 
เมื่อจัดการแสดงหน้าพระที่นั่งถวายกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ 
ยังมอบหมายให้ครูแอ๋วเป็นแม่งาน กำกับศิลป์การแสดงทั้งหมด
.
จากแอ๊คติ้งโค้ช ด้วยประสบการณ์และเมตตาบารมี 
ช่วงหลังครูแอ๋วจึงต้องทำหน้าที่ไลฟ์โค้ชให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ 
อาศัยศาสตร์อันลุ่มลึกของวิชาการละคร พลิกแพลงไปสู่
ศาสตร์แห่งการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้น
.
และนี่คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้ 
หนังสือที่ผู้ซึ่งได้รับการกล่าวขาน
ว่าเป็นแอ๊คติ้งโค้ชหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย 
ได้ถ่ายทอดเทคนิคและเคล็ดวิชา ว่าเราจะนำศาสตร์แห่งการละคร 
อันเป็นศาสตร์ขั้นสูงที่ถูกยกย่องมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ 
มาใช้ในการพัฒนาหน้าที่การงานและชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร
.
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นอย่างง่ายๆ เพื่อให้อ่านง่ายๆ 
แต่การจะทำได้ตามที่หนังสือเขียนนั้นไม่ง่ายเลย 
.
หนังสือเล่มนี้เหมือนกุญแจดอกเล็ก
ที่ใช้ไขเข้าสู่จักรวาลภายในของตัวเรา 
เป็นกุญแจที่ไขเข้าไปค้นหาปริศนาแห่งตัวตน 
ตามเทคนิคของคนละคร
หลายเทคนิค หลายคนเคยใช้ได้ผลบนเวทีใหญ่ 
ในภาพยนตร์ ในละครยอดฮิต 
ใช้พิชิตปัญหาและข้อขัดแย้ง
ในการทำงานร่วมกันในองค์กรใหญ่ 
.
ถ้ากระจกมีไว้เพื่อให้เราใช้ส่องหน้า 
หนังสือเล่มนี้ก็คือผลิตผลของประสบการณ์หลายสิบปี
ที่กลั่นออกมาจากงานศิลปะ หลายแขนง หลายด้าน 
เพื่อให้เราได้ใช้ส่องจิตวิญญาณด้านในของตัวเรา 
ดังคำกล่าวของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ที่ว่า
.
“You use a glass mirror to see your face;
you use works of art to see your soul.”
.
คุณส่องกระจกเพื่อเห็นหน้า
หากงานศิลปะนานาใช้ส่องให้เห็นวิญญาณ
.
หนังสือเล่มนี้มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว 
และมันต้องใช้เวลาถึง 13 ปี พอๆ กับเวลาที่พระรามเดินดง 
———————————————-
Contents
Overture
โหมโรง
Prologue
คำเกริ่น
Flashback
ตัวตนกับความรัก
ACT I
ตัวตนและคุณค่า
ACT II
ตัวตนและคนละคร
ACT III
ตัวตนและชีวิต
ACT IV
ศิลปะของการละคร
ACT V
ละครซ้อนชีวิต
Epilogue
บทส่งท้าย
Curtain Call
คำขอบคุณ
Playwright
ประวัติผู้เขียน
เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:SELF–SEARCHING คุณค่า ตัวตน คน ละคร
คะแนนของคุณ