อุโมงค์ทะลุมิติ
ISBN: 9786169243403
ผู้แต่ง : ชัยคุปต์
ผู้แปล : ชัยคุปต์
สำนักพิมพ์ : บิง แฟคทอรี่
ปีที่พิมพ์ : 2558
จำนวนหน้า : 124
เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนและคนรักวิทยาศาสตร์
นิยายวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนกับเรื่องแต่งโดยทั่วไปที่เป้าหมายแรกสุด คือสร้างความบันเทิงแก่ผู้อ่าน แต่นิยายวิทยาศาสตร์ มีสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “จุดแข็ง” ทำให้แตกต่างไปจาเรื่องแต่งประเภททั่วไป คือ ความแปลกใหม่ (ORIGINALITY) ที่จะเสริมสร้างจินตนาการและความรู้สึกพิศวงแก่ผู้อ่าน
กล่าวง่ายๆ นิยายวิทยาศาสตร์ที่ดี แรกสุดต้องอ่านสนุก ขณะเดียวกัน ก็มีความแปลกใหม่ที่จะเสริมสร้างจินตนาการและความรู้สึกทึ่ง พิศวง
เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่รวมตีพิมพ์เป็นเล่มอยู่ในหนังสือ “อุโมงค์ทะลุมิติ” นี้เป็นเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน
เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน แตกต่างไปจากเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ทั่วไป (หมายถึงผู้ใหญ่เป็นหลัก) อย่างไร ?
จริงๆ แล้ว เป้าหมายแรกสุดของเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนก็เหมือนกับเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ทั่วไป คือ ต้องอ่านสนุก แล้วก็เสริมสร้างจินตนาการ อ่านแล้วเกิดความรู้สึกทึ่งพิศวง แต่ส่วนแตกต่างแรกสุด คือ สถานการณ์เหตุการณ์ พฤติกรรมของตัวละคร และเรื่องราว รวมถึงภาษาเขียนที่ใช้จะมีกรอบอยู่บ้างให้เหมาะสมกับเยาวชน ฉากความรุนแรง การแสดงออกด้านอารมณ์ ความรู้สึก ก็เช่นเดียวกัน
แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน ก็มีส่วนที่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่ออนาคตของทั้งเยาวชนและของโลก เพราะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของสังคมของประเทศ และของโลกจำนวนมากจะชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ในวัยเด็ก และที่สำคัญเป็นพิเศษ ในช่วงวัยเด็กได้อ่านหนังสือที่จุดประกายบันดาลใจที่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิตของเด็กเอง จากเด็กที่ไม่มีความรู้สึกกระตือรือร้นต่อเรื่องใดๆ ของชีวิต ของโลก กลับกลายเป็นเด็กที่เกิดความมุ่งมั่น ความตั้งใจที่จะมิใช่เป็นเพียงเติบโตขึ้นตามอายุที่มากขึ้น แต่จะเติบโตขึ้น ด้วยปัญญา ด้วยสติ และปณิธานที่จะมีชีวิต มีอนาคต ที่มีคุณค่า
ก็เพราะด้วยความตระหนักในเรื่องนี้ในการเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนของผู้เขียนที่รวมอยู่ในหนังสือ “อุโมงค์ทะลุมิติ” นี้ ผู้เขียนจึงวางเป้าหมายที่จะเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลายในประเภท ทั้งนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆ (SCIENCE FICTION หรือ SCI-FI หรือ SI-FI) และนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี (FANTASY SCIENCE FICTION หรือ FANTASY SCI-FI หรือ SCIENCE FANTASY)
จริงๆ แล้ว ถึงแม้นิยายวิทยาศาสตร์จะแบ่งได้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆและนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซีโดยที่นิยายวิทยาศาสตร์จริงๆ ก็ยังแบ่งได้อีกเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ประเภทแข็ง (HARD SCIENCE FICTION) และนิยายวิทยาศาสตร์ประเภทอ่อน หรือ นิยายวิทยาศาสตร์สังคม (SOFT SCIENCE FICTION หรือ SOCIAL SCIENCE FICTION) แต่นิยายวิทยาศาสตร์ที่วงการนิยายวิทยาศาสตร์ยกย่องว่าดีที่สุด คือ นิยายวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานทั้งนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆ และนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี ซึ่งเขียนได้ยากที่สุด แต่ก็ท้าทายที่สุด
จากความตั้งใจของผู้เขียน เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ จึงมีนิยายวิทยาศาสตร์จริงๆ ทั้งประเภทแข็งและประเภทอ่อน แล้วก็มีที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์เชิงแฟนตาซี โดยที่หลายเรื่อง จะผสมผสานประเภทต่างๆ ของนิยายวิทยาศาสตร์ทั้งหมด (ประเภทแข็ง ประเภทอ่อน และเชิงแฟนตาซี) ซึ่งโดยปรกติทำได้ยากสำหรับเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องทำได้ง่าย (และเป็นจุดแข็งหนึ่งที่สำคัญ) สำหรับนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องยาว