Kledthai.com

ตะกร้า 0

ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563) รัฐสมบูรณาญาสิทธิราช

ISBN: 9786167667874

ผู้แต่ง : ฟ้าเดียวกัน

ผู้แปล : -

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน

ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2563

จำนวนหน้า : 176

ซีรี่ส์:
-
พร้อมส่ง
ISBN:
9786167667874
ราคาพิเศษ ฿225.00 ราคาปรกติ ฿250.00

บทบรรณาธิการ

ทวิวิกฤต

ทัศนะวิพากษ์

ประวัติศาสตร์นิพนธ์วิพากษ์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิ­ราชย์กับกระฎุมพีราชการ : ทัศนะและข้อสังเกตต่อ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย (ตอน 1)

ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล

จากขุนนางศักดินาสู่ข้าราชการ “ศักดินา” : กรณีกำเนิดกระทรวงการต่างประเทศปี 2369-2475

ปราน จินตะเวช

“ปา-ตา-นี” ประวัติศาสตร์แห่งตัวตนที่เพิ่งสร้าง

จีรวุฒิ บุญรัศมี

การปรับเปลี่ยนทัศนะชนชั้นนำไทยต่อ “จีนแดง” หลัง 14 ตุลา 2516 และชัยชนะของ “จีนแดง” ผ่านเรื่องเล่า “ฝ่ายขวา” ก่อน 6 ตุลา 2519

อาสา คำภา

จาก “ป๋า” สู่ “กะเทยเฒ่า” : ว่าด้วยประวัติเปรมาธิปไตยในปิตาธิปไตยรักต่างเพศนิยม

ชานันท์ ยอดหงษ์

บทความปริทัศน์

ความสำเร็จและล้มเหลวของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ทวิวิกฤต

อวสานระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามในปี 2475 มีสาเหตุมาจากการบรรจบกันของสองวิกฤตคือ วิกฤตความชอบธรรมและวิกฤตประสิทธิภาพ เดิมการปกครองของสยามแต่โบราณนั้นถือเอา “ชาติวุฒิ” เป็นสำคัญ ใครเกิดชนชั้นไหนและเป็นพวกกับใครก็จะได้รับคุณเมื่อฝ่ายนั้นๆ ได้รับชัยชนะ และได้รับโทษหากพ่ายแพ้ในเกมชิงอำนาจ

แต่การสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำเป็นต้องมีกลไกข้าราชการขนาดใหญ่ ทำให้การอาศัยชาติวุฒิเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปทั้งในแง่ของขนาดและประสิทธิภาพ พระมหากษัตริย์จึงจำต้องสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมา นั่นคือบรรดาข้าราชการสามัญชนที่ผ่านการศึกษาของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือที่กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรียกว่า “กระฎุมพีราชการ” (ดู ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย, 2562) คนเหล่านี้เติบโตขึ้นพร้อมกับข้อเรียกร้องและสำนึกใหม่คือการให้ความสำคัญกับ “คุณวุฒิ” หรือความสามารถ มากกว่า “ชาติวุฒิ” หรือชาติกำเนิด พร้อมๆ กับการเปิดรับต่อรูปแบบการปกครองใหม่ๆ โดยเฉพาะในต้นศตวรรษที่ 20 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั่วโลก

ชนชั้นใหม่นี้ได้สร้างความตึงเครียดให้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าพวกเขาจะภักดีกับใคร ภักดีกับพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือหัวหน้าในระบบราชการที่ให้คุณให้โทษโดยตรง นี่คือวิกฤตความชอบธรรมที่ก่อตัวขึ้นมา ในอีกด้านหนึ่ง การเข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกของรัฐสยามด้วยการผลิตข้าวและสินค้าเกษตรป้อนตลาดโลก เมื่อเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำในปี 2472 (The Great Depression 1929) ที่ราคาข้าวตกต่ำอย่างรุนแรง ส่งผลต่อรายรับที่ลดฮวบลงของรัฐบาล วิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งของรัฐบาลคือการดุลราชการ หรือปลดข้าราชการออก ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับข้าราชการจำนวนมาก ยังไม่ต้องพูดถึงราษฎรที่เริ่มมีปากเสียงมากขึ้นผ่านสื่อกลางคือหนังสือพิมพ์ โดยที่ชนชั้นนำไม่ได้รับผลกระทบมากนัก นี่คือวิกฤตประสิทธิภาพ

เมื่อวิกฤตความชอบธรรมและวิกฤตประสิทธิภาพมาบรรจบกัน จึงก่อให้เกิดการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ถือเป็นอวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์

รัฐบาลชุดต่างๆ หลังการปฏิวัติ 2475 ต้องบริหารทั้งความชอบธรรมและประสิทธิภาพไปพร้อมกัน หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม ขณะที่รัฐบาลจากการรัฐประหาร เช่น รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เลือกวิธีฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ตนเองได้เป็น “รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ พร้อมกับนโยบายพัฒนาที่มาจากการหนุนเสริมของสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลสฤษดิ์ไม่มีปัญหาในเรื่องเสถียรภาพ

ในทางกลับกัน เมื่อมาถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจจอมพลถนอม กิตติขจร ความชอบธรรมของรัฐบาลเริ่มสั่นคลอนเนื่องจากครองอำนาจมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี และมีความพยายามส่งต่ออำนาจผ่านเครือญาติ ขณะเดียวกันประสิทธิภาพของรัฐบาลก็ลดลง ดังกรณีวิกฤตน้ำมันในช่วงต้นปี 2516 ประเทศเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ผลของวิกฤตความชอบธรรมและวิกฤตประสิทธิภาพ จึงนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

นอกจากนี้ รัฐบาลที่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรม เช่น รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ก็ใช้วิธีไกล่เกลี่ยอำนาจกับพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมๆ กับการส่งเสริมสถาบันกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง จนอยู่ได้นานถึง 8 ปี 5 เดือน ก่อนต้องก้าวลงจากอำนาจเมื่อเสียงขับไล่ดังขึ้น

ขณะที่ในด้านกลับกัน เราได้เห็นการล้มลงของรัฐบาลทักษิณ ที่แม้จะมีความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง และมีประสิทธิภาพในการส่งมอบนโยบายให้กับผู้เลือกตั้ง แต่เมื่อชนชั้นนำรู้สึกว่าความนิยมในตัวทักษิณคุกคามสถานะตนเองจึงร่วมกันทำลายความชอบธรรมของทักษิณ โดยสร้างให้เป็นคู่ตรงข้ามกับสถาบันกษัตริย์ด้วยข้อหา “ล้มเจ้า” จนประสบผลสำเร็จในการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 แต่รัฐประหาร 2549 ล้มเหลวเพราะไม่สามารถทำลายความนิยมต่อ “ฝ่ายทักษิณ” ได้ ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งปี 2550 ที่ “ฝ่ายทักษิณ” กลับมาชนะอีกครั้ง รวมทั้งปี 2554 ด้วย

ดังนั้น รัฐประหาร 2557 จึงเพิ่มดีกรีการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายต่อต้าน ตลอดจนใช้กลไกองค์กรอิสระและสถาบันตุลาการมาช่วยพยุงรัฐบาลทหารจนอยู่ได้นานถึง 5 ปี และมีความพยายามสืบทอดอำนาจผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2562

ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 38,268,375 คน คะแนนของฝ่ายที่ประกาศไม่เอาประยุทธ์สืบทอดอำนาจมีมากถึง 24,165,525 เสียง หรือคิดเป็น 63.14 % (พรรคเพื่อไทย 7,920,630 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 6,265,950 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 826,530 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 485,664 เสียง พรรคประชาชาติ 485,436 เสียง พรรคเพื่อชาติ 419,393 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 81,733 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 3,947,726 เสียง พรรคภูมิใจไทย 3,732,883 เสียง)

แต่อย่างที่ทราบกันดี กลไกที่คณะรัฐประหารได้วางเอาไว้ผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีรากความคิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งเป็นฐานค้ำยันอำนาจของเปรม โดยมีวุฒิสมาชิก 250 คน ที่คณะรัฐประหารตั้งมากับมือไว้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วหนุนเสริมด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่พร้อมจะตีความเพื่อเป็นคุณกับคณะรัฐประหาร ดังจะเห็นได้จากการคำนวณแบบพิสดารปัดเศษให้พรรคเล็ก ตลอดจนการกลืนน้ำลายของพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่กลับลำหันไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ทำให้ในที่สุดก็เกิดรัฐบาลประยุทธ์ 2 ขึ้นจนได้ ทั้งๆ ที่เสียงข้างมากของประชาชนที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์ปรากฏชัดจากผลของการเลือกตั้งแล้ว นี่คือวิกฤตความชอบธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น

หลังจากนั้น กรณีโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตระดับโลก (เทียบได้กับวิกฤตเศรษฐกิจโลกตกต่ำในปี 2472) เราได้เห็นการรับมือกับปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดแทบทุกแง่มุม จนประชาชนหมดความเชื่อมั่นเชื่อถือไม่ไว้วางใจทั้งรัฐบาลและหน่วยงานรัฐในด้านประสิทธิภาพและความโปร่งใส กล่าวได้ว่ารัฐไทยเกือบจะอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลว (failed state) นี่คือวิกฤตประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นตามมาในระยะเวลาแค่หนึ่งปี

กระนั้นก็ตาม ทวิวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้แทนที่จะทำให้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ล้มลง แต่กลายเป็นว่าสถานะของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมั่นคงมากยิ่งขึ้นภายหลังผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้คณะรัฐมนตรีจะไม่สามารถตอบข้อกล่าวหาได้อย่างชัดแจ้ง แต่คะแนนในสภาที่สนับสนุนรัฐบาลกลับมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีวี่แววจะมีใครหลุดออกจาก ครม. นี่เป็นผลมาจากการซื้อบรรดา “งูเห่า” หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งหากเป็นการเมืองปกติ จะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับเล็ก เช่น การปรับ ครม. นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ หรือการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน เกษียร เตชะพีระ เรียกสภาวะแบบนี้ว่า รัฐไทยกำลังล้มเหลว แต่รัฐบาลมั่นคง (a failing state with a stable government) ซึ่งหมายความว่าภายใต้ความมั่นคงนั้นต้องมีอำนาจพิเศษที่หนุนหลังอยู่ ทั้งที่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น วุฒิสภา 250 คนที่ตั้งมากับมือ และอำนาจพิเศษที่ค้ำจุนรัฐบาลอยู่

แต่ผู้คนจะยอมจำนนตลอดไปหรือไม่ ปรากฏการณ์เยาวชนเขย่าโลก (Youthquake) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก่อนหน้านี้ใครคิดบ้างว่าจะปรากฏขึ้นในประเทศไทย ทว่าภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ก็เกิดกลุ่มคนหน้าใหม่ที่ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองในลักษณะใหม่ๆ จากที่เคยอยู่ในโลกออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ก็ออกมาแสดงตนในโลกออฟไลน์ โดยที่พลังในการต่อต้านการรัฐประหารตลอดสิบปีที่ผ่านมาก็มิได้ลดน้อยถอยลง

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อน 2475 ที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ เมื่อเกิดทวิวิกฤตคือ วิกฤตความชอบธรรมและวิกฤตประสิทธิภาพขึ้นพร้อมกันแล้วไม่สามารถปรับตัวได้ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตยที่ออกแบบมาให้มีทางออกเพื่อไม่ให้ระบอบถึงทางตัน

คำถามคือตอนนี้สังคมไทยซึ่งกำลังเผชิญกับทวิวิกฤตอยู่ภายใต้ระบอบใดกันแน่ แล้วหากรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ตามคำของประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง) ไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนได้ จะเกิดอะไรขึ้น

เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563) รัฐสมบูรณาญาสิทธิราช
คะแนนของคุณ