บทบรรณาธิการ
สถาบันรัฐประหาร
อีกไม่กี่วันคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็จะยึดครองประเทศไทยครบ 4 ปี อาจฟังดูเหมือนยาวนาน แต่ที่จริงแล้วคนไทยอยู่กับรัฐประหารมายาวนานกว่านั้นมาก จนกลายเป็นความคุ้นชินของคนไทยจำนวนหนึ่งไปแล้ว ถ้าคุณอายุ 60 ปี (เกิดปี 2501) ในชีวิตก็จะเจอรัฐประหาร 7 ครั้ง (2501, 2514, 2519, 2520, 2534, 2549, 2557) อายุ 50 ปี (เกิดปี 2511) เจอ 6 ครั้ง อายุ 30-40 ปี (เกิดปี 2521-2531) เจอ 3 ครั้ง อายุ 20 ปี (เกิดปี 2541) เจอ 2 ครั้ง อายุ 10 ปี (เกิดปี 2551) เจอ 1 ครั้ง
ความถี่ข้างต้นทำให้กล่าวได้ว่า รัฐประหารได้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองของไทยไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของชนชั้นนำไทยว่ารัฐประหารคือการจัดการปัญหา ดังแผนผังวงจรอุบาทว์การเมืองไทย
หากหันไปมองประเทศอื่นๆ ทั่วโลก กลับพบว่าตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2543) จนถึงปัจจุบัน การรัฐประหารโดยตรงของกองทัพ (military coup) เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด มีรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จเพียง 9 ครั้งเท่านั้นที่กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองและโค่นล้มระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยลงได้ ทั้ง 9 ครั้งเกิดขึ้นในประเทศอย่างกินีบิสเซา (2003 และ 2012) ฟิจิ (2006) บังคลาเทศ (2007) ฮอนดูรัส (2009) มาลี (2012) อียิปต์ (2013) และอีก 2 ครั้งในประเทศไทย (2006 และ 2014) โดยมีเพียงแค่กินีบิสเซา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลกและประเทศไทยเท่านั้น ที่เกิดรัฐประหารซ้ำถึง 2 ครั้งในเวลาไม่ถึง 10 ปี (ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ “รัฐประหารในศตวรรษที่ 21 : สัญญาไม่เป็นสัญญาและความด้อยพัฒนาทางการเมือง,”
the 101.world, 22 พฤษภาคม 2560,
https://www.the101.world/thoughts/coup-in-21st-century/)
ขณะที่ในนานาอารยะประเทศ รัฐประหารเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ไม่อาจยอมรับได้ แต่สำหรับคนไทย รัฐประหารกลับเป็นความชั่วร้ายที่จำเป็น ดังที่อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารและตัวแทนของชนชั้นนำ ได้แก้ต่างให้กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ว่า “ฝรั่งเขาบอกว่ามี ‘รัฐประหาร’ คราวนี้เท่ากับทำลาย ‘ประชาธิปไตย’ คำถามที่ผมตอบไปบอกว่า ถามจริงๆ เถอะ ยูคิดว่า 3 ปี 5 ปีที่ผ่านมาเราเป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรือ ฝรั่งไม่เคยกล้าตอบผมว่าเขาคิดว่าเป็นประชาธิปไตย... รัฐประหารในเมืองไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง และหลายครั้งผมก็ไม่เห็นด้วย และหลายครั้งผมก็เข้าใจเหตุผล คราวนี้ผมก็เข้าใจเหตุผลว่ามันมีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องทำ” (ดู “‘อานันท์-ภิญโญ’ ถกเรื่องรัฐประหาร บอก ‘มีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องทำ,’”
ไทยพับลิก้า, 15 สิงหาคม 2557,
https://thaipublica.org/2014/08/anand-panyarachun-talk/)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชนชั้นนำเหล่านี้ไม่เคยตระหนักก็คือ ทุกวันนี้การทำรัฐประหารในประเทศไทยไม่ได้ง่ายอีกต่อไปแล้ว ในอดีตเพียงแค่จับกุมนายกรัฐมนตรีบนเครื่องบินก็สามารถจบเรื่องได้ แต่รัฐประหาร 2 ครั้งหลังได้ใช้ต้นทุนของชนชั้นนำไปไม่น้อยเพื่อปูทางให้รัฐประหารสำเร็จ กล่าวคือ ต้องขับเคลื่อนมวลชนขนานใหญ่ ศาลต้องลงมาเล่นการเมือง องค์กรอิสระต้องตีความกฎหมายตามใจชอบ “ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ต้องลงมาชี้โพรงให้รัฐประหาร ฯลฯ และจบลงที่กองทัพขับรถถังออกมา
ถึงแม้จะรัฐประหารสำเร็จแล้วก็จำเป็นต้องอาศัยตัวช่วยมาประคับประคอง โดยต้องทำอย่างเปิดเผยเพื่อให้สาธารณชนเห็นว่ากองหนุนยังทำงานอยู่ ดังที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ขณะดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ได้สารภาพอย่างหน้าชื่นตาบานว่ากำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ “ตนเป็นองคมนตรี และ พล.อ.สุรยุทธ์ก็เป็นองคมนตรี รัฐธรรมนูญได้บัญญัติห้ามองคมนตรียุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อตนไปพูดอะไรก็ถูกตำหนิว่าเป็นองคมนตรี จะพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไว้ ก็บอกเขาว่า ที่พูดไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะพูด” (“ป๋าเปรมปลุกให้ปรองดองเพื่อชาติ ยกย่อง ‘สุรยุทธ์’ เทียบ ‘วินส์ตั้น เชอร์ชิลด์,’”
ผู้จัดการออนไลน์, 15 พฤศจิกายน 2549,
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000141356)
ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวของรัฐบาลรัฐประหาร 2557 ทั้งเรื่องคอร์รัปชั่น “แหวนพ่อ นาฬิกาเพื่อน” ระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง และความด้อยความสามารถในการบริหารประเทศ ทำให้ “กองหนุน” ที่ร่วมกันสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารยิ่งลดน้อยถอยลง ซึ่งถ้าไม่ล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ก็ “ตาสว่าง” ประจักษ์ว่ารัฐประหารไม่ใช่ทางออกของประเทศ
คณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คงจะต้องลงจากอำนาจไม่ช้าก็เร็ว แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ในอนาคตสถาบันรัฐประหารยังจะมีความชอบธรรมเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ ก็น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับประชาธิปไตยในประเทศไทย