Kledthai.com

ตะกร้า 0

ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์: เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย (ปกอ่อน)

ISBN: 9786168215203

แปลจากหนังสือ : ‘Thailand's Theory of Monarchy: The Vessantara Jātaka and the Idea of the Perfect Man’ by Patrick Jory

ผู้แต่ง : แพทริค โจรี

ผู้แปล : ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ

สำนักพิมพ์ : Illuminations Editions

ปีที่พิมพ์ : พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2563

จำนวนหน้า : 276

ซีรี่ส์:
-
พร้อมส่ง
ISBN:
9786168215203
ราคาพิเศษ ฿432.00 ราคาปรกติ ฿480.00

ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์ : เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย (ปกอ่อน)

เขียนโดย แพทริค โจรี
แปลโดย ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ

ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์ : เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย
เขียนโดย แพทริค โจรี

แปลจาก ‘Thailand's Theory of Monarchy: The Vessantara Jātaka and the Idea of the Perfect Man’ by Patrick Jory

หนังสือเล่มนี้ได้รับการเลือกให้เป็น 2016 CHOICE Outstanding Academic Title

หนังสือแบ่งออกเป็น 6 บท

ในบทแรกจะบรรยายพลวัตของพิธีกรรมการเทศน์เวสสันดรชาดกที่รู้จักกันในชื่อ เทศน์มหาชาติ หรือ “การเทศนาว่าด้วยการเกิดที่ยิ่งใหญ่” ลักษณะเวสสันดรชาดกในฐานะตัวบทสำหรับเทศนาเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญยิ่ง ชาดกที่มีแก่นเรื่องเชิงการเมืองนี้ออกแบบมาสำหรับถ่ายทอดให้คนหมู่มากฟัง ความนิยมเวสสันดรชาดกยังมีตัวบทอื่น ๆ จำนวนมากรองรับ โดยตัวบทเหล่านี้สัมพันธ์กับเวสสันดรชาดกในแง่ที่ช่วยเน้นย้ำอานิสงส์มหาศาลที่จะได้รับจากการฟังเทศน์ ผู้เขียนเสนอว่าลักษณะอันซับซ้อนของการเทศน์เวสสันดรชาดก และขั้นตอนพิธีกรรมที่แวดล้อมการเทศน์ แสดงให้เห็นความพยายามอย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง (บาลี: พุทฺธวจน) สิ่งนี้เป็นเพราะพลังของเวสสันดรชาดกตามจารีตพุทธศาสนาเถรวาทนั้นอิงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่า จากนั้นผู้เขียนจะกล่าวถึงความพยายามของราชสำนักไทยที่สั่นคลอนพลังของเวสสันดรชาดก โดยมุ่งโต้แย้งความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องชาดกนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือโดยเฉพาะ เป็นข้อเสนอที่ตอบโต้ขนบประเพณีอายุหลายร้อยปีอย่างรุนแรง

บทที่ 2 จะสืบย้อนอิทธิพลที่เก่าแก่และต่อเนื่องของเวสสันดรชาดก ย้อนไปถึงรัฐยุคแรก ๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัจจุบันเรียกกันว่าประเทศไทย ได้แก่ ทวารวดี สุโขทัย ล้านนา ล้านช้างของลาว และอาณาจักรอยุธยาที่เรืองอำนาจ ดังนั้นชาดกนี้จึงปรากฏขึ้นตั้งแต่เมื่อชนเผ่าไทเริ่มรวมตัวกันเป็นชุมชนทางการเมืองเป็นครั้งแรก จากหลักฐานที่มีอยู่จะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างช่วงเวลาขยายตัวหรือผนวกอำนาจทางการเมืองกับการอุปถัมภ์เวสสันดรชาดกโดยราชสำนัก

บทที่ 3 จะเปลี่ยนไปพิจารณาอาณาจักรที่เจริญขึ้นหลังอยุธยาล่มสลาย เริ่มด้วยอาณาจักรธนบุรีที่ตั้งอยู่ในช่วงสั้น ๆ ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน (พ.ศ. 2310-2325) ตามด้วยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ตั้งขึ้นที่กรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2325 โดยราชวงศ์จักรีมาจนถึงปัจจุบัน ต้นฉบับตัวเขียนจำนวนมากของคัมภีร์เทศน์มหาชาติที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมาจากยุคสมัยนี้แทบทั้งสิ้น และพบได้ในทุกภูมิภาคของอาณาจักรที่ขยายออกไปอย่างกว้างไกล ผู้เขียนจะเน้นให้เห็นความสนพระทัยของพระมหากษัตริย์ในยุคนี้ที่มีต่อเวสสันดรชาดก เนื่องจากชาดกนี้ได้มอบแบบแผนของผู้ปกครองทรงธรรมที่ทรงปรารถนาดำเนินรอยตาม ด้วยเหตุว่าหลักฐานเอกสารจากยุคดังกล่าวมีอยู่เป็นจำนวนมาก เราจึงสามารถเจาะลึกถึงรายละเอียดของทฤษฎีว่าด้วยกษัตริย์โพธิสัตว์นี้ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทฤษฎีดังกล่าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในราชสำนักไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325-2394) สอดคล้องกับช่วงเวลาที่รัฐไทยกุมอำนาจสูงสุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทที่ 4 จะกล่าวถึงการเปลี่ยนท่าทีครั้งสำคัญของราชสำนักไทยต่อเวสสันดรชาดกในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ต้นพุทธศตวรรษที่ 25) ธรรมยุติกนิกายซึ่งเป็นฝ่ายปฏิรูปพุทธศาสนา นำโดยเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เริ่มต้นกระบวนการที่ค่อย ๆ ลดทอนความสำคัญของชาดกในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมของราชสำนัก ผู้เขียนจะอธิบายถึงสาเหตุที่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ตั้งแต่ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของอาณาจักรช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงพุทธศตวรรษที่ 25) ความเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองระหว่างเจ้าฟ้ามงกุฎกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผลกระทบของวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกต่อวิธีคิดของปัญญาชนชั้นนำในราชสำนักรัชกาลที่ 4 และที่สำคัญที่สุดคือ ภัยคุกคามต่อสถาบันกษัตริย์ไทยจากมหาอำนาจอาณานิคมยุโรปที่รุกคืบเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป สถานะที่เปลี่ยนไปของชาดกในพุทธศาสนาของไทยสะท้อนให้เห็นการท้าทายทฤษฎีกษัตริย์แบบพุทธศาสนาที่ชาดกช่วยเผยแพร่และเป็นรากฐานให้แก่สถาบันกษัตริย์ไทยในอดีต

บทที่ 5 จะกล่าวถึงจุดสูงสุดของขบวนการปฏิรูปในราชสำนักไทยในการถอดชาดกออกจากหลักคำสอนของพุทธศาสนาแบบทางการ เห็นได้จากพระราชนิพนธ์ความเรียงเกี่ยวกับชาดกอันโดดเด่นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2447 เป้าหมายของพระราชนิพนธ์ดังกล่าวคือการปฏิเสธอำนาจชาดกในฐานะคัมภีร์อย่างชัดเจน และจัดประเภทใหม่ให้เป็นแค่นิทานพื้นบ้าน ด้วยการนี้เอง พระองค์ได้ตัดวรรณกรรมศาสนาประเภทนี้ออกจากจารีตพุทธศาสนาแบบไทย ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ยอมรับความจริงแท้ของชาดกและมโนทัศน์เรื่องกษัตริย์โพธิสัตว์เท่ากับว่าพระองค์ได้ตัดความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จักรีกับเชื้อสายของพระพุทธเจ้า วิธีตีความแบบใหม่นี้ไม่ได้เกิดจากการศึกษาพุทธศาสนาในไทยฝ่ายเดียว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงหยิบยืมจากนักวิชาการยุโรปที่ศึกษาพุทธศาสนาและชาดกโดยเฉพาะ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางความคิดของยุโรปที่มีอย่างมหาศาลต่อจารีตพุทธศาสนาในราชอาณาจักรเอง ความเรียงดังกล่าวตีพิมพ์ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างรัฐไทยขนานใหญ่ ส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจการปกครองมาอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีแบบอย่างจากดินแดนอาณานิคมของยุโรปในบริติชอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันกษัตริย์ที่ผ่านการปฏิรูปในรัชกาลที่ 5 พยายามจะสร้างสถานะของตนเองให้เทียบเคียงกับเหล่ากษัตริย์คริสต์ยุโรปสมัยใหม่ที่ปกครองรัฐชาติที่เพิ่งเกิดขึ้น สถานะชาดกในพุทธศาสนาไทยของทางการได้เสื่อมไปพร้อม ๆ กับกรอบความคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบพุทธที่ถูกปฏิเสธไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากที่ผูกผู้ปกครองไทยกับผู้ใต้ปกครองไว้ด้วยกันมากว่า 6 ศตวรรษนับตั้งแต่รัฐไทยแห่งแรกเกิดขึ้นมา

ในบทที่ 6 จะกล่าวถึงอีกแง่มุมของกระบวนการดังกล่าว โดยสำรวจการตีพิมพ์หนังสือครั้งใหญ่ที่ราชสำนักไทยดำเนินการในช่วง พ.ศ. 2447-2474 มีการแปลและจัดพิมพ์ชาดกทั้งหมด ทั้งชุดนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก โดยจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ “นิทาน” ซึ่งเป็นหมวดใหม่ล่าสุดของ “วรรณกรรมไทย” การตีพิมพ์นี้แสดงให้เห็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของราชสำนักไทยที่ต้องการสถาปนาการตีความวรรณกรรมศาสนาเก่าแก่นี้เสียใหม่อย่างเป็นทางการ

การที่ชนชั้นนำกลุ่มเล็ก ๆ ที่กำลังก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่พยายามปฏิรูปจารีตศาสนาโบราณนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การให้ความพยายามเช่นนั้นเป็นที่ยอมรับโดยคนหมู่มากกลับเป็นอีกเรื่อง ในบทสุดท้ายจะตอบคำถามว่า การที่สถาบันกษัตริย์ไทยพยายามแยกตัวเองออกจากมรดกอายุ 7 ศตวรรษของเวสสันดรชาดก และออกจากกระบวนทัศน์ผู้ปกครองผู้ทรงธรรมที่ชาดกเรื่องนี้สร้างไว้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ในการนี้ ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไทยที่ทันสมัยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก ยังคงรักษาแก่นของทฤษฎีอำนาจทางการเมืองอันเก่าแก่ซึ่งแปลกแยกจากแนวคิดสมัยใหม่เรื่องความชอบธรรมทางการเมืองเอาไว้ได้อย่างไร

เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:ทฤษฎีกษัตริย์โพธิสัตว์: เวสสันดรชาดกในประวัติศาสตร์ไทย (ปกอ่อน)
คะแนนของคุณ