คำนำสำนักพิมพ์
หนังสือ ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย เล่มนี้ เป็นหนังสือรวมบทความของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ลำดับที่ 5 ที่จัดทำโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แม้ทุกเล่มที่ผ่านมาจะถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ระดับอุดมศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย ทว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเล่มที่เข้าใกล้คำว่า “ตำราเรียน” มากที่สุด
บทความต่างๆ ที่ถูกคัดสรรและจัดหมวดหมู่รวมอยู่ในเล่มนี้ ดูราวกับว่าเขียนขึ้นอย่างกระจัดกระจายในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และเผยแพร่ครั้งแรกในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ (3 ชิ้นเขียนในทศวรรษ 2530, 4 ชิ้นเขียนในทศวรรษ 2540, 2 ชิ้นเขียนในทศวรรษ 2550, และ 1 ชิ้นรวมถึงบทนำเขียนในปี 2561 ในวาระรวมเล่มครั้งนี้) กระนั้นก็ตาม เมื่อมารวมอยู่ด้วยกัน กลับสะท้อนชัดเจนถึงสมาธิ ความมุ่งมั่นไม่สั่นคลอนของผู้เขียน ที่จะผลักดันความรู้ประวัติศาสตร์ไทยให้ออกนอกขนบเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ไปพ้นจากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม
สำหรับนักอ่านทั่วไป การอ่านหนังสือเล่มนี้อาจคล้ายได้กลับไปลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการเรียนรู้แบบไม่จำเป็นต้องท่องจำอะไรเลย ทว่าถูกท้าทายให้หัดคิดและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา
สำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์ในระดับมูลฐาน ให้ภาพรวมของกระแสความเคลื่อนไหวของวิทยาการประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามออกนอกขนบ เสนอแนะทฤษฎีวิพากษ์ทั้ง post-national, postmodern, post-colonial history และทฤษฎีที่ให้มุมมองเชิงพื้นที่ รวมไปถึงตัวอย่างการปรับใช้ทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ในการวิเคราะห์วิพากษ์อย่างเป็นรูปธรรม
หากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง คล้ายกับการได้สนทนากับคนคนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้สะท้อนภาพธงชัย วินิจจะกูล ที่เป็นคู่สนทนาของผู้อ่่านในสามแง่มุมเป็นอย่างน้อย
แง่มุมแรก ธงชัยในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่อยู่ “กึ่งๆ กลางๆ” (in-between) ข้ามไปข้ามมาระหว่างโลกวิชาการในประเทศไทยกับนอกประเทศไทย กล่าวคือ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในปี 1988 เขากลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงสองสามปี ก่อนย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1991 จนถึง 2016 (รวม 25 ปี) ทำให้กล่าวได้ว่าชีวิตทางปัญญาของเขาอยู่ในระดับโลก ขณะที่ความสนใจและเชี่ยวชาญของเขาอยู่ที่เรื่องราวที่ดำเนินไปในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองและอุษาคเนย์
ธงชัยน่าจะตระหนักดีถึงตำแหน่งแห่งที่อันก้ำกึ่งของตนเอง ซึ่งไม่ใช่ทั้งคนนอก/คนในของวงวิชาการไทยศึกษา และเกือบๆ จะเป็น “คนอื่น” ในวงวิชาการอเมริกัน เขาขัดเกลามุมมองจากตำแหน่งแห่งที่กึ่งๆ กลางๆ นั้นจนแหลมคม แล้วใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังที่ผู้อ่านอาจเห็นได้ในภาค 1 ของหนังสือเล่มนี้ ธงชัยปริทัศน์ประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามออกนอกขนบ อภิปรายถึงภูมิทัศน์ทางปัญญาของประวัติศาสตร์ชุดใหม่ 4 กระแสหลัง 14 ตุลา ชี้ให้เห็นข้ออ่อนและคุณูปการของกระแสต่างๆ อีกทั้งตรวจสอบและวิพากษ์ล่วงหน้าอย่างแม่นยำถึงร่องรอยความคิดชาตินิยมของปัญญาชนฝ่ายซ้าย ที่นำไปสู่การร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายกษัตริย์นิยมในขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งในรัฐประหาร พ.ศ. 2549
ตำแหน่งแห่งที่อันก้ำกึ่งนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นใปอีกในภาค 2 โดยเฉพาะในบทความ “เขียนตรงรอยต่อ : นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับประวัติศาสตร์แบบหลังชาติ” ซึ่งธงชัยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “นักวิชาการเจ้าบ้าน” (home scholar) และการเขียนประวัติศาสตร์ตรงรอยต่อ (interstices) ในฐานะทางเลือกและข้อได้เปรียบสำหรับนักประวัติศาสตร์ “พื้นถิ่น” (native) หากอ่านภาค 2 ทั้งสองบทความควบคู่กัน ผู้อ่านอาจสังเกตเห็นด้วยว่าตัวธงชัยเองก็ใช้แนวคิดดังกล่าวในงาน Siam Mapped ของเขาด้วย
แง่มุมที่สอง ธงชัยในฐานะอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ความเป็นครูของธงชัยน่าจะปรากฏชัดในหนังสือเล่มนี้มากกว่าเล่มอื่นๆ ในบทความ “การเมืองและวิธีวิทยาของ Siam Mapped” ในภาค 2 ธงชัยชำแหละแบงานของตัวเองให้เห็นอย่างละเอียด บอกเล่าทั้งแรงบันดาลใจในการเขียน วัตถุประสงค์ กลวิธีการเล่าเรื่อง แนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาเบื้องหลัง ข้อถกเถียงสำคัญๆ รวมถึงตอบข้อโต้แย้งจากนักวิจารณ์ในประเด็นต่างๆ น่าจะมีนักวิชาการน้อยคนที่ชำแหละแบงานของตนเองเพื่อเป็นวิทยาทานแบบที่เขาทำ ส่วนในภาค 3 ผู้อ่านจะได้เรียนรู้แนวคิดพื้นฐานของกระแส postmodernism และ post-colonial history อย่างกว้างๆ แต่เป็นลำดับขั้น กระชับเข้าใจง่าย เนื่องจากธงชัยอธิบายทฤษฎีเหล่านี้ผ่านความเข้าใจของตนหรือย่อยมาให้แล้วชั้นหนึ่งนั่นเอง นอกจากนี้ ในภาค 4 ทั้งสี่บทความแสดงถึงการปรับใช้แนวคิดทฤษฎีจากภาค 2 และภาค 3 อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เมื่ออ่านทั้งเล่ม ผู้อ่านอาจเห็นร่องรอยการออกแบบโครงเรื่อง ลำดับเรื่อง และความรู้ประวัติศาสตร์ ที่ธงชัยในฐานะ “ครูผู้สอนประวัติศาสตร์” ได้เตรียมการสอนมาอย่างแยบคาย
แง่มุมที่สาม ธงชัยในฐานะผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม และปฏิเสธแนวคิดชาตินิยมทุกรูปแบบ ผู้อ่านอาจรู้สึกได้ว่างานเขียนของธงชัยแม้เป็นงานวิชาการแต่ขณะเดียวกันก็เจือไปด้วยความรู้สึกหลายอย่างปะปนกัน ความรู้สึกดังกล่าวอาจเกิดจากประวัติศาสตร์บาดแผลของเขาเองในฐานะปัจเจกชนที่ผ่านโศกนาฏกรรมป่าเถื่อนที่กระทำการโดยรัฐและสถาบันสำคัญของสังคมไทย หรืออาจเกิดจากสายตาของนักประวัติศาสตร์ “ตรงรอยต่อ” ที่มองเห็นเรื่องราวที่แลดู “ปกติ” ในสายตาของคนทั่วไป แตกต่างออกไปลิบลับ คือขันขื่นอย่างที่สุดจนไม่รู้ว่าจะร้องไห้หรือหัวเราะดี สถานะผู้รอดชีวิตแต่ก็เหมือนตายทั้งเป็นด้วยอาลัยชั่วกาลนานถึงเพื่อนที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งแห่งที่กึ่งๆ กลางๆ ไปอีกแบบ เป็นพื้นที่ของเส้นทางทางปัญญาที่ออกจะสันโดษ มุ่งสอบสวนถอดรื้อประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างไม่ลดละ
สารบัญ
ภาค 1 ปริทัศน์ประวัติศาสตร์นอกขนบ
- บทที่ 1 ภูมิทัศน์ของอดีตที่เปลี่ยนไป : ประวัติศษสตร์ชุดใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลา
- บทที่ 2 ชาตินิยมกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศไทย
ภาค 2 Post-national History
- บทที่ 3 การเมืองและวิธีวิทยาของ Siam Mapped
- บทที่ 4 เขียนตรงรอยต่อ : นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใใต้กับประวัติศาสตร์แบบหลังชาติ
ภาค 3 แนะนำ Postmodern, Post-colonial History
- บทที่ 5 การศึกษาประวัติศาสตร์แบบ Postmodern
- บทที่ 6 การศึกษาประวัติศาสตร์แบบสาแหรก : วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของฟูโกต์
ภาค 4 โครงเรื่องและเทศะมิติกับการสร้างประวัติศาสตร์
- บทที่ 7 เรื่อง ลำดับเรื่อง และโครงเรื่อง กับความรู้ประวัติศาสตร์
- บทที่ 8 ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย กรณีพระมหาธรรมราชา : ผู้ร้ายกลับใจ หรือถูกใส่ความโดย Plot ของนักประวัติศาสตร์
- บทที่ 9 ประชาธิปไตยไทยในความทรงจำของสังคม : เรื่องเล่าเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยอนุสาวรีย์
- บทที่ 10 ผีหลายตนที่ท่าพระจันทร์ : การเมืองของภูมิสถานและความทรงจำ