นักล่าแสงแรก - ธรรมรุจา ธรรมสโรช
ISBN: 9786169355342
ผู้แต่ง : ธรรมรุจา ธรรมสโรช
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : จงสว่าง
นักล่าแสงแรก หนังสือรวมบทกวี 49 บท มีทั้งกลอนเปล่าและบทกวีฉันทลักษณ์ ผลงานในรอบ 8 ปีของธรรมรุจา ธรรมสโรช นับจาก "โปรดระวังช่องว่างระหว่างรถไฟกับชานชาลา" ผลงานที่ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่าน
หนังสือกวีนิพนธ์ นักล่าแสงแรก แบ่งเป็น 5 ส่วนคือ
1 นักล่าแสงแรก (มีบทกวี 13 บท)
2 แสงเหนือ (มีบทกวี 13 บท)
3 แสงจากขอบโขง (มีบทกวี 8 บท)
4 แสงไต้ (มีบทกวี 6 บท)
5 แสงของพรุ่งนี้ (มีบทกวี 9 บท)
บทกวีหลายชิ้นเคยเผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ บางชิ้นเคยตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์, ในเพจ และในงานสำคัญๆ ด้านความเคลื่อนไหวทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
.
บางถ้อยคำจากสำนักพิมพ์
ในโลกที่เร่งรีบและวุ่นวาย บทกวีคือโอเอซิสของคำวิเศษให้เราได้พักผ่อนและเติมพลังใจ หนังสือรวมบทกวีเล่มนี้ จะพาผู้อ่านออกเดินทางไปพบกับความงามและความซับซ้อนของชีวิต ผ่านคำประพันธ์เปี่ยมไปด้วยพลังและความหมาย ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความหวัง หรือความกลัว ...บทกวีย่อมสามารถทำหน้าที่ชี้ชวนให้เราได้ทบทวนและเข้าใจชีวิตของตนเองมากยิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราได้เพลิดเพลินไปกับจังหวะลมหายใจของบทกวี ทั้งที่มีแบบแผนและแบบอิสระ
.
บางถ้อยคำจากผู้เขียน
ทุกวันฉันลืมตาตื่นขึ้นมาในเช้าแล้วเช้าเล่า เพื่อสบตาพระอาทิตย์ดวงใหม่ อาบแสงแรกจากทะเลอ่าวไทย ทะเลอันดามัน ดอยสุเทพ ยื่นมือสัมผัสหมอกขาวเชียงราย แตะน้ำค้างจากเกสรดอกไม้ที่เกาะกูด ขับรถบนเส้นทางเขาใหญ่สู่ลุ่มน้ำโขง จดจำสีทองหลายเฉดจากทุ่งข้าวแดนยโสธร ฟังสำเนียงถิ่นแปลกหู แล้วสำเนาภาพจำของแสงแรกในดวงตาก่อนนิทรา พร้อมตื่นขึ้นดื่มด่ำชีวิตนับพันครั้งโดยไม่มีเช้าใดซ้ำกันเลย ฉันเรียกลักษณาการนี้ว่า “การล่าแสงแรก” ...หนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะพาผู้อ่านเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่พื้นที่อื่นๆ ตามท่วงทำนองการผจญภัย ซึ่งฉันตั้งคำถามว่าชุมชน พลเมือง จะอยู่อย่างไรในยุคนี้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบทิศ ทั้งจากภายใน ภายนอก และสงสัยว่าอีกประมาณ 300 ปี หน้าตาของสังคมจะวิวัฒนาการไปอย่างไร
.
เกี่ยวกับผู้เขียน
ธรรมรุจา ธรรมสโรช เกิดและโตที่กรุงเทพมหานคร เริ่มเขียนบทกวีภาษาไทยตั้งแต่ชั้นประถมฯ และเริ่มเขียนบทกวีภาษาอังกฤษในช่วงวัยรุ่นขณะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา พอจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วย้ายไปเรียนปริญญาตรีที่เซ็นทรัล เซนต์มาร์ติน คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ มหาวิทยาลัยศิลปะลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง คณะออกแบบผลิตภัณฑ์ และจบปริญญาโทด้านการผลิตภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยบอร์นมัธ ประเทศอังกฤษ
.
ปัจจุบัน ธรรมรุจา ธรรมสโรช เป็นล่ามพูดพร้อม (Simultaneous Interpreter) ให้องค์กรระหว่างประเทศ เชี่ยวชาญประเด็นสิ่งแวดล้อม การบังคับใช้กฎหมาย และศิลปวัฒนธรรม เป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังคงสร้างสรรค์งานด้วยความเชื่อมั่นว่า “กวีนิพนธ์คือภาษาสากล”
.
ผลงานด้านการเขียน
ธรรมรุจา ธรรมสโรช มีผลงานกวีนิพนธ์รวมเล่มแล้วได้แก่ บันทึกที่ศูนย์เดซิเบล (2556), โปรดระวังช่องว่างระหว่างรถไฟกับชานชาลา (2559) และ ก่อนรุ่งสางระหว่างตึกระฟ้า (2563) โดย 2 เล่มหลังมี “เสี้ยวจันทร์ แรมไพร” เป็นบรรณาธิการ
.
ผลงานแปลในนาม “ธรรมรุจา”
“กวี-หมี-พูห์ (ฉบับภาพล่องหน)” จัดพิมพ์ปี 2565 โดย “อ่าน๑๐๑ สำนักพิมพ์” ในเล่มเธอแปลผลงาน 2 เรื่องของ “เอ. เอ. มิลน์” (A. A. Milne) คือ When We Were Very Young (วันนั้นเรายังเล็กนัก) และ Now We Are Six (วันนี้หกขวบแล้วนะ)