ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์
ISBN: 9789743159046
ผู้แต่ง : นิติ ภวัครพันธุ์
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : สยามปริทัศน์
ปีที่พิมพ์ : 2558
จำนวนหน้า : 302
การอภิปรายในงานเขียนชิ้นนี้มิได้เน้นเพียงแนวคิดและวิวาทะเรื่องชาติพันธุ์ที่ปรากฏในงานเขียนด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ทั้งที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษเท่านั้นกหากยังพาดพิงถึงประเด็นอื่นๆ ที่ผมคิดว่าสัมพันธ์กับเรื่องชาติพันธุ์เช่น
- แนวคิดเรื่องเชื้อชาติ (race) ชาติ (nation) ชาตินิยม (nationalism) ชาติพันธุ์นิยม (ethnonationalism)
- ความสัมพันธ์ชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต โดยพาดพิงถึงการณีต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างชนต่างชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ในบริเวณภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทรของภูมิภาค
- วัฒนธรรมไตและมลายู อันเป็นวัฒนธรรมของผู้คนจำนวนมหาศาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- อัตลักษณ์ (identity) และการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมือง เช่น กรณีของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือและนิวซีแลนด์ ที่ใช้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของพวกตนในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมือง ซึ่งนอกจากมีนัยของการเป็นชนพื้นเมืองแล้วยังสะท้อนถึงพลวัตและความผันแปรของลัตลักษณ์ของพวกเขา ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-วัฒนธรรม
หนังสือเล่มที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้เป็นฉบับปฐมฤกษ์ของ “ตำราสังคมศาสตร์เคล็ดไทย-สสมส.” จึงนับเป็นโอกาสอันดีในการเปิดตัวหนังสือชุดนี้ด้วย
ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์ ซึ่งแต่งโดย นิติ ภวัครพันธุ์ เป็นงานเขียนเกี่ยวกับแนวคิดและวิวาทะเรื่อง “ชาติพันธุ์” (ethnicity) ในแวดวงมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา โดยใช้กรณีศึกษาในสังคมหลายแห่งเป็นตัวอย่งในการอภิปรายนอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต โดยพาดพิงถึงกรณีต่างๆ ทั้งในบริเวณภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทรของภูมิภาคนี้อีกด้วย
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ ตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิอ่านพิจารณาต้นฉบับ (reader) ซึ่งระบุว่า มีลักษณะพิเศษอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน
- เป็นตำราที่รวบรวมทั้งแนวคิดและข้อถกเถียง ที่เป็นพื้นฐานและทันสมัย ตำรานี้ได้แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับข้อถกเถียงดั้งเดิมของการศึกษาด้านนี้ ไล่มาจนกระทั่งแนวคิดร่วมสมัยต่างๆ ผู้อ่านจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกับนักคิดนักวิชาการด้านชาติพันธุ์ศึกษาที่สำคัญๆ อย่างไม่ตกหล่น นับได้ว่าใช้เป็นตำราสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาด้านนี้ได้เป็นอย่างดี
- อย่างไรก็ดี ตำรานี้เลือกที่จะชี้ให้เห็นความเลื่อนไหลความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ลักษณะเชิงการเมือง และความยอกย้อนไม่เป็นสารัตถะแน่ชัดตายตัวของความเป็นชาติพันธุ์ ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าสำหรับการศึกษาด้านนี้ในปัจจุบัน
- หนังสือนี้เป็นตำราที่เสนอตัวอย่างด้านชาติพันธุ์ศึกษาในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเชื่อมโยงและเปรียบเทียบกับตัวอย่างจากที่อื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีจุดเด่นที่การรวบรวมและทดลองสร้างข้อถกเถียงด้านชาติพันธุ์ศึกษาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ 2 กลุ่มคือ มลายู และไท/ไต
- หนังสือนี้เป็นตำราที่น่าติดตาม ทั้งๆ ที่มีการเรียบเรียงมีการอ้างอิงอย่างรัดกุมในฐานะงานเขียนทางวิชาการแต่อาจารย์นิติก็เขียนเล่าเรื่องราวอย่างสนุกสนานชวนให้ติดตาม ในแง่นี้จึงสามารถใช้ได้ทั้งเป็นตำราในวิชาเรียน เป็นตำราอ้างอิงทางวิชาการ และเป็นหนังสืออ่านสำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการศึกษาด้านนี้