หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่
ISBN: 9786169246213
แปลจากหนังสือ : THE HEART IS A LONELY HUNTER
ผู้แต่ง : Carson McCullers
ผู้แปล : จุฑามาศ แอนเนียน
สำนักพิมพ์ : Library House
ปีที่พิมพ์ : 2559
จำนวนหน้า : 400
THE HEART IS A LONELY HUNTER (1940) หรือ หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ พูดถึงหลายชีวิตที่แตกต่างกันทั้งวัย เพศ สถานะ ความคิด ความเชื่อ หากแต่เชื่อมโยงกันได้ด้วย “ความเหงา” ในแบบของตัวเอง อารมณ์อันเป็นสามัญและสากลนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของนวนิยายที่ทำให้มันเข้าถึงคนอ่านจำนวนมาก และทำให้ชื่อของ คาร์สัน แม็คคัลเลอร์ส เป็นที่ยอมรับในฐานะนักเขียนสมัยใหม่คนสำคัญของอเมริกาตั้งแต่เธออายุเพียง 23 ปี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ความเหงาในแบบฉบับแม็คคัลเลอร์สมีพลังกระทบจิตใจอย่างพิเศษ น่าจะเป็นเพราะว่ามันผสมผสานเอาเงื่อนไขทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงเข้าไปเป็นปัจจัยของความโดดเดี่ยว ตัวละครของแม็คคัลเลอร์สมักจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็น “คนนอก” หรือ “ผิดปกติ” ไม่ว่าในเชิงกายภาพ ความคิด หรือทั้งสองอย่าง คนเหล่านี้มีความขาดพร่องเป็นมิตรสหาย และมักไม่ถูกมองว่าสามารถมีอารมณ์ความรู้สึกแบบที่คน “ปกติ” มี ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความฝัน ความปรารถนา ความเศร้า รวมไปถึงความเหงาด้วย สิ่งที่แม็คคัลเลอร์สทำจึงเป็นการใส่องค์ประกอบที่เข้าใจกันว่าเป็นคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ เข้าไปในบรรดาคนที่เป็นมนุษย์ “น้อยกว่า” มนุษย์ทั่วไป ผลก็คือ นอกจากผู้อ่านจะสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงกับตัวละครที่เป็น “คนนอก” ในฐานะมนุษย์ซึ่งประสบชะตากรรมเดียวกัน หากแต่หนักหนาร้ายแรงกว่ามากได้อีกด้วย
แม็คคัลเลอร์สมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับนักเขียน “ชาวใต้” คนอื่นๆ เช่น William Faulkner, Flannery O’Connor และ Truman Capote มีผู้วิเคราะห์อิทธิพลของขนบทางวรรณกรรมที่มีผลต่อนักเขียนกลุ่มนี้ไว้หลากหลาย ที่น่าจะได้รับการยอมรับกันกว้างขวางที่สุดก็คือ การเปรียบเทียบงานเขียนของพวกเขากับองค์ประกอบของงานกอธิกในสมัยศตวรรษที่ 19 ทำให้งานในกลุ่มนี้มักถูกเรียกรวมกันว่า The Southern Gothic อย่างไรก็ตาม ตัวแม็คคัลเลอร์สเอกมองว่า เธอและบรรดานักเขียนใต้คนอื่นๆ ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมแนวสัจจนิยมของรัสเซียมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไร สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันว่าโดดเด่นในงานของพวกเขาก็คือ การปะทะกันระหว่างสิ่งที่ตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นความตลกขบขันกับความเศร้าโศก จิตวิญญาณกับวัตถุ หรือเรื่องยิ่งใหญ่กับสิ่งเล็กน้อย คุณสมบัติดังกล่าวเหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดใน หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ และเป็นตัวที่ช่วยขับเน้นความขัดแย้งอันซับซ้อนและหลากหลายมิติในเรื่อง เราได้รู้จักกับตัวละครที่ทั้งน่าขันและน่าสงสาร น่าชื่นชมแต่ก็น่ารังเกียจ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่แต่ก็ไร้ความสลักสำคัญ รวมไปถึงความคลุมเครือของขั้วตรงข้ามต่างๆ ตั้งแต่เรื่องอุดมการณ์ไปจนถึงเรื่องเพศสถานะ
ดังนี้ เราจึงได้เห็นความน่าขันและความน่าสงสาร ความน่าชื่นชมแต่น่ารังเกียจ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่แต่ไร้ความสำคัญ รวมไปถึงความคลุมเครือของประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เรื่อง 'อุดมการณ์' ไปจนถึงเรื่อง 'เพศสถานะ' ผ่านตัวละครอย่างซิงเกอร์ (Singer) ชายใบ้ผู้เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของทุกคน มิค เด็กหญิงบุคลิกทอมบอยผู้กำลังเติบโตเป็นสาว คุณหมอชราผิวสีนามโคปแลนด์ เจค นักเคลื่อนไหวผู้ไขว่คว้าหาโอกาสสู่ความเท่าเทียม บิฟฟ์เจ้าของคาเฟ่ และตัวละครอีกมากมายที่ล้วนไล่ล่าตามหาความเข้าใจและปรารถนาจะคลายปมความคับข้องที่ไม่มีใครมองเห็น
หัวใจคือนักล่าผู้ว้าเหว่ จะทำให้เราได้ทบทวนความสัมพันธ์ต่างๆ ยอมรับความหลากหลายที่ปรากฏรอบกาย และจะทำให้เราตระหนักว่าปัจจัยสำคัญของการอยู่ร่วมกันคือ การมองเห็นความมีตัวตนของคนอื่น ยินดีรับฟังเสียงของกันและกันอย่างเห็นอกเห็นใจ และต้อง “เข้าใจ” อย่างแท้จริง
ความที่ตัวละคร "ผู้ว้าเหว่" (lonely) ทั้งหลายต่างก็เป็น "นักล่า" (hunter) พวกเขาล้วนแต่แสวงหาอะไรบางอย่างที่อาจไม่มีอยู่จริงหรือแม้กระทั่งพูดถึงไม่ได้ และหมกมุ่นอยู่กับมันจนไม่เหลือพื้นที่ของความอกเห็นใจให้แก่คนอื่น ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงต้องเดินทางอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ และในทางกลับกันก็ไม่สามารถเข้าใจใครได้ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกเหนือไปจากตัวพวกเขาเองแล้ว เงื่อนไขทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเหยียดสีผิว ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ความคาดหวังของสังคมต่อบทบาททางเพศ ฯลฯ ก็เป็นปัจจัยแวดล้อมซึ่งสร้างกำแพงที่กันตัวละครเหล่านี้ออกจากกันและกัน เป็นทั้งต้นตอและผลพวงของความโดดเดี่ยวอันยากจะเยียวยา ซึ่งทำให้ความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะ "ได้ยิน" เสียงของกันและกันลดน้อยลงไปอีก หากนี่คือสาเหตุของความเหงาของใครสักคน หนทางสำคัญในการแก้เหงาอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าจะไล่ล่าหาคนมาเข้าใจตัวเองได้อย่างไรแต่อยู่ที่การเริ่มต้นมองเห็นความเหงาของคนเหงาคนอื่นๆ ที่อยู่รอบกาย อันอาจนำไปสู่การทำลายกำแพงที่ไม่เราก็เขาสร้างไว้ระหว่างกัน แม้อาจฟังดูโรแมนติกผิดธรรมเนียมของงาน Southern Gothic หรือ Russian Realist ไปสักหน่อย และท้ายที่สุดอาจไม่ได้ทำให้เรื่องราวของชีวิตใครจบได้สวยงามกว่าตัวละครในนวนิยายเล่มนี้ แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นเปิดใจเพื่อเข้าใจความเจ็บปวดของผู้อื่นผ่านการอ่าน ก็อาจช่วยให้หัวใจของ "นักล่า" ทั้งหลายไม่ต้อง "ว้าเหว่" มากจนเกินไปนักก็เป็นได้