ย่ำไปในไพรเถื่อน
ISBN: 9786167883182
ผู้แต่ง : บุหลัน รันตี
ผู้แปล : -
สำนักพิมพ์ : บ้านหนังสือ
ปีที่พิมพ์ : 2558
จำนวนหน้า : 295
ถ้าให้บอกความรู้สึกที่มีต่อนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า บุหลัน รันตี นั้น ผมยอมรับว่า นี่คือนักเขียนเรื่องป่าที่ทรงคุณค่าอีกคนหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะงานเขียนแนวสารคดี เป็นนักเขียนที่ทำให้คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือสารคดีอย่างผมกลับต้องมาหอบเอาหนังสือแนวนี้ไปนอนอ่านถึงที่นอน นอกจากเนื้อหาของงานเขียนจะได้สาระและความบันเทิงครบครันแล้วนั้น ลีลาการใช้ถ้อยคำในการเหน็บแนมหยอกล้อผู้ร่วมเดินทางทำให้การอ่านมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น บางครั้งอ่านหนังสือเผลอยิ้มแบบไม่ทันรู้ตัว ผมบอกได้เลยว่านักเขียนท่านนี้ประดุจดั่งเพชรเม็ดงามที่จะประดับวงการนักเขียนเรื่องป่าได้เป็นอย่างดี --- นัฐ นักเดินป่า
ผมไปปักหลักทำไร่กุหลาบอยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 แรงงานร่วมหกสิบชีวิตเป็นชาวกะเหรี่ยง พม่า และมอญ มีคนไทยแค่สิบสองคน ระหว่างนี้ผมมีความสุขกับงานในไร่ไม่น้อยไปกว่างานเขียนหนังสือ
ต้นปี พ.ศ. 2544 คุณสิทธิชัย หวังอยู่สุข บรรณาธิการนิตยสารเย่อกับปลาแวะไปเยี่ยมผมที่ไร่อุษาวดีตามประสาคนคุ้นเคยกัน และได้นำนิตยสารเย่อกับปลาไปทิ้งไว้ให้อ่านเล่นแก้เหงา ก่อนลากลับคุณสิทธิชัยได้บอกไว้ว่าถ้ามีเวลาให้เขียนสารคดีไปลงนิตยสารเย่อกับปลาบ้าง
ผ่านไปราวหนึ่งปี ผมใช้เวลาว่างหมดไปกับการเที่ยวป่า และตั้งแค้มป์ตกปลา งานเขียนหนังสือยังไม่สามารถแทรกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้ ผมกับเพื่อนๆ ตะลอนไปตามลุ่มน้ำภาชี และขุมเหมืองร้างซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในอำเภอสวนผึ้งเท่าที่เวลาจะเอื้อให้
ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 อากาศที่ไร่เย็นยะเยือก อุณหภูมิลดลงเหลือสี่องศาเซลเซียส ผมได้บุตรสาวคนแรกเป็นของขวัญปีใหม่ และของขวัญที่ผมตั้งใจจะมอบให้กับลูกสาวคนแรกก็คืองานเขียนแห่งความทรงจำสักชิ้น พร้อมสมุดบัญชีเงินฝากให้ชื่อของลูกสาว เพื่อสะสมไว้เป็นทุนการศึกษาในอนาคต
เก้าปีเต็มที่ผมไม่ได้เขียนหนังสือ ดังนั้นสารคดีเรื่อง “บังคยู สายน้ำนี้คือชีวิต” กว่าจะเริ่มได้ก็ต้องมาตั้งต้นนับหนึ่งกันใหม่ หลังจากนั้นผมได้รื้อค้นรูปภาพเก่าๆ ตั้งแต่สมัยทำงานในเมืองทวายเมืองมะริด และได้ลำดับเรื่องราวถึงวันเวลาเก่าๆ มาเรียบเรียงส่งไปลงตีพิมพ์ในนิตยสารเย่อกับปลาชื่อว่า “เสียงเพรียกจากบังคะยู” ประกอบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้นราวปีเศษ รัฐบาลทหารพม่าส่งกองกำลังมาโจมตีฐานที่มั่นกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระบริเวณเขตติดต่ออำเภอสวนผึ้งจังหวัดราชบุรี และ กาญจนบุรี จนกองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติต้องล่มสลายลงไปส่วนหนึ่ง และมีเหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีโดยกองกำลังก๊อดอาร์มี ซึ่งมีนักศึกษาพม่าลี้ภัยการเมืองเป็นแกนนำ คุณสิทธิชัย หวังอยู่สุข บรรณาธิการ ก็เลยแก้ไขชื่อเรื่องให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในขณะนั้น มาเป็น “ฝ่าพรมแดนเลือดรัฐกะเหรี่ยง เพราะเสียงเพรียกจากบังคะยู”
สารคดีเรื่องยาวชุดนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองทวายและมะริด ซึ่งในขณะนั้นถูกยึดครองโดยกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ (KNU.) ผมมีโอกาสได้ติดตามพ่อค้าวัวเข้าไปในพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แต่ก็ไปในลักษณะนักนิยมไพรมากว่า พ่อค้าวัวโดยตรง มีกำไรนิดหน่อย แต่สิ่งที่ได้รับซึ่งคุ้มค่ากับเวลาที่หมดไป ก็คือประสบการณ์มากมายในแผ่นดินที่ยังอวลไปด้วยควันปืน และดกดื่นไปด้วยผืนป่าบริสุทธิ์ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ที่ยังต้องดำรงชีพอยู่กับป่าซึ่งยากแค้นและล้าหลังจากเมืองไทยไปหลายสิบปี
จากโอกาสที่ได้รับเมื่อวัยหนุ่มจนคุ้นเคยกับผืนป่าตะวันตกแผ่นดินกะเหรี่ยงพอๆ กับผืนป่าชายแดนเทือกเขาตะนาวศรีของราชบุรี ผมไม่ลังเลเลยเมื่อมีผู้เสนองานในป่าพม่าหลังจากที่ผมหันหลังให้กับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารโลกกว้างกลางแจ้ง
ฤดูร้อนกลางปี พ.ศ. 2534 หนุ่มโสดวัยคะนองสิบเอ็ดชีวิตได้ร่วมชะตากรรมหัวหกก้นขวิด ให้ชีวิตผจญภัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีหรือบังคะยูในภาษากะเหรี่ยง (ภาษาพม่าเรียกว่าแม่น้ำเท็นนาสเซอร์ริม) อันประกอบไปด้วยทิดมี (อนันต์ อุดปา) จู๋ (อาคม ตาลาน) ริด (สัมฤทธิ์ โลภาส) ประเดิม (ประเดิม เสมศรี) กือ (ณรงค์ศักดิ์ สันติโยธินกุล) พล (โสภณ) น้าหนู, เกียรติ์,พี่เสน่ห์ และเพชร
งานชิ้นนี้เป็นงานที่มีคุณค่ากับพวกเราทุกคน ถึงแม้ว่าจะมีค่าตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตัวเอง แต่อย่างน้อยๆ ช่วงหนึ่งของชีวิตวัยหนุ่มก็ได้มีโอกาสพานพบกับสิ่งดีๆ มากมาย เราทุกคนถือว่าเป็นประสบการณ์อันเยี่ยมยอดที่ไม่มีโอกาสได้พบอีกต่อไป
สารคดีชุดนี้จึงมีที่มาจากประสบการณ์ในวัยหนุ่มของพวกเราหลายคน ซึ่งผมมีโอกาสได้ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือเท่าที่ความสามารถจะพึงมี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้อ่านทุกคน