Kledthai.com

ตะกร้า 0

คนขี่เสือ HE WHO RIDES A TIGER

ISBN: 9786167576053

ผู้แต่ง : ภวานี ภัฏฏาจารย์

ผู้แปล : จิตร ภูมิศักดิ์

สำนักพิมพ์ : บุ๊คเน็กซต์

ปีที่พิมพ์ : 2554

จำนวนหน้า : 302

พร้อมส่ง
ISBN:
9786167576053
ราคาพิเศษ ฿207.00 ราคาปรกติ ฿230.00

 เขาเกรงไปว่าเจ้าความเท็จที่เขาสวมมันไว้จะส่งเสียงฟ้องว่าเขาไม่ใช่พราหมณ์ แต่เป็นกาโลช่างปะซ่อมหม้อไหธรรมดาเท่านั้น  ขณะที่กาโลควบขับความเท็จออกไปสู่ป่าของชีวิตนั้นกาโลเริ่มเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ในป่านั้น และเรียนรู้วิธีบังคับตัวเองให้รักษาสมดุล แห่งการนั่งบนหลังเสือ เขาสามารถขับขี่เสือและเอาประโยชน์จากมัน แต่อยู่ที่ว่าเขารู้วิธีฆ่ามัน กาโลได้ฆ่าเสือตัวนั้นเสีย....

คนขี่เสือ หรือ “he who rides a tiger” นี้ เป็นผลงานของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ นักประพันธ์ชาวอินเดีย ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2497 ต่อมาได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ แพร่หลายทั่วโลก

สำหรับสำนวนภาษาไทยสำนวนแรกนั้น ทราบว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ไอ้แปลออกมาจนเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ราว พ.ศ. 2501 แต่มิได้ตีพิมพืเป็นเล่มออกมาในตอนนั้น จนกระทั่งคุณภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นพี่สาวของจิตรได้พบต้นฉบับลายมือที่เก่าเหลืองกรอบจึงได้คัดลอกด้วยลายมือลงในสมุดขจนาดแปดหน้ายกถึงสิบสี่เล่ม  ในสำนักพิมพ์ดอกหญ้าจัดพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2530

คนขี่เสือสำนวนไทยที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2516 โดยสำนักพิมพ์เสียงเยาวชนนั้น เป็นสำนวนแปลของ ทวีป วรดิลก ซึ่งผู้แปลกล่าวไว้ในคำนำว่า “นวนิยายเรื่องนี้จิตร ภูมิศักดิ์เพื่อนรักของข้าพเจ้าผู้เป็นกวีและศึกษาศิลปวรรณคดีที่ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งเคยแปลออกมาเป็นภาษาไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2500 เศษๆ แต่ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ทราบว่า จิตร ภูมิศักดิ์ แปลจบไม่แล้วหรือยัง หรือต้นฉบับจะอยู่ที่ใด นอกจากจะได้แต่ข่าวมรณกรรมที่น่าสลดใจของเขาเท่านั้น  มูลเหตุจูงใจของข้าพเจ้าในการแปลนวนิยายเรื่องนี้ก็ด้วยความรำลึกถึงจิตรภูมิศักดิ์ซึ่งชอบนวนิยายเรื่องนี้เป็นพิเศษอย่างน้อยที่สุดก็ถือว่าเป็น การสืบต่อเจตนารมณ์ประการหนึ่งของเขาที่มีต่ออาณาจักรวรรณกรรมของเมืองไทยเรา”....

คนขี่เสือ แปลจากนิยายเรื่อง He Who Rides A Tiger ของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ นักประพันธ์ชาวอินเดีย โดยจิตร ภูมิศักดิ์ ต้นฉบับ He Who Rides A Tiger ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2497 และคุณจิตร แปลเสร็จราวปี พ.ศ.2501 ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้าในอีกเกือบ 30 ปีต่อมา นอกจากคนขี่เสือฉบับแปลโดยจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ยังมีฉบับที่แปลโดยคุณทวีป วรดิลกด้วย

คนขี่เสือเป็นเรื่องราวของกาโล การ์มา(หรือกรรมกร) ในวรรณะศูทร ประกอบอาชีพเป็นช่างตีเหล็กในเมืองชารนา มณฑลเบงกอล กาโลมีลูกหญิงหนึ่งคน คือ จันทรเลขา ผู้กำเนิดจากเมียรักเยาว์วัยของกาโล ที่ตายจากไปเพราะการคลอดลูก จันทรเลขาจึงเป็นดั่งของมีค่าสิ่งเดียวในชีวิตที่เหลืออยู่ เขารักเธอดังแก้วตาดวงใจ แม้ว่าจะเป็นการ์มา แต่กาโลก็ภาคภูมิในงาน ในผลงานจากสองมือของเขา จันทรเลขาลูกหญิงที่ฉลาดเฉลียว มีหน้าตางดงามอย่างแม่ เธอรักและบูชาพ่อของเธอ เช่นเดียวกับที่พ่อรักและบูชาเธอ ชีวิตแม้แร้นแค้นแต่ความสุขยังหาได้ 

ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเมื่อสงครามลุกลามไปทั้งโลก (สงครามโลกครั้งที่ 2) ความอดอยากหิวโหยแผ่ขยายไปทั่ว ผู้คนมากมายล้มตาย ที่ยังอยู่ก็ดิ้นรนเข้าไปยังเมืองหลวงแห่งความหวัง กาโลต้องตัดสินใจจากลูกสาววัยเยาว์เข้าไปหางานในเมืองหลวง กัลกัตตา เขาตั้งใจว่าเมื่อได้งาน พอมีเงินจะกลับมารับลูกไปอยู่ด้วยกัน ระหว่างทางฝูงชนมากมายหลั่งไหลไปทางเดียวกับเขา ฝูงชนผู้หิวโซ ชีวิตไร้ค่า ซ้ำยังน่ารังเกียจ กาโลลอบขึ้นรถไฟขบวนหนึ่งได้ แต่ความหิวโหยทำให้เขาขโมยกล้วย 3 ใบจากห้องโดยสารห้องหนึ่ง และนั่นทำให้เขาถูกจองจำในคุกถึงสองเดือน ในคุกเขาได้พบกับนักโทษหนุ่มคนหนึ่ง ผู้มีเลขประจำตัว B.10 ที่รับโทษ 1 ปีจากข้อหาปลุกระดม ก่อความวุ่นวาย ในคุกกาโลได้เรียนรู้บางเส้นทางจาก B.10 เส้นทางที่เขาไม่เคยคิดเลือกเดิน เมื่อพ้นโทษออกมาเขาพยายามหางานสุจริตทำ แต่สิ่งที่เขาทำได้ก็มีเพียงงานเก็บศพที่นอนเรียงรายเต็มข้างถนน เขาเริ่มตระหนักชัดถึงสิ่งที่ B.10 บอกเขาในคุก พวกเขามีค่าเพียงเศษธุลีดิน แม้อดสู หดหู่ แต่เมื่อนึกถึงจันทรเลขาที่รอคอยอยู่ กาโลตัดสินใจไปทำงานเป็นคนคุมซ่องโสเภณี งานซึ่งเปลี่ยนเขาจากธุลีดินที่ไร้ค่า แสนสกปรก ถูกตำรวจเอาไม้ตะบองไล่ตี มาเป็นคนที่ตำรวจนายนั้นอยากเข้ามาตีสนิท งานซึ่งทำให้เขาได้พบเลขา ลูกหญิงของเขาในวันหนึ่ง! 

กาโลช่วยเลขาออกมาจากซ่องแห่งนั้น และเพื่อปกป้องเธอจากภาวะอันน่าน่าสะพรึงกลัว เขานำตัวเองลงมาต่ำเช่นเดียวกัน เปิดเผยความตกต่ำของตัวเอง ความเป็นคนขี้่คุก เพื่อให้ตนเองอยู่ในระดับเดียวกับเธอ จากนั้นเรื่องราวอันแสนลำบากและทรมานก็ถูกถ่ายทอดสู่กันและกัน 

กาโลตัดสินใจทำตามที่ B.10 เคยแนะนำ "เราคือผงคลีดิน ไอ้พวกที่ถือตัวเป็นเจ้านายมันเหยียบย่ำเราเพราะมันกลัวเรา มันชกเราตรงที่ที่เราเจ็บปวดที่สุด เราต้องชกตอบ" ในเมื่อความเชื่อความศรัทธากดข่มชีวิตของพวกเขาไว้ เขาจึงใช้ความเชื่อความศรัทธานั้นเองยกชูตัวเองขึ้นมา กาโลปลอมเป็นพราหมณ์ วรรณะอันแสนห่างไกลจากชาติกำเนิดของเขา ทำอุบายว่าพระศิวะมาเข้าฝัน และจะปรากฎกายใต้ต้นไทรใหญ่กลางทุ่งนา เมื่อเขาทำสำเร็จ ศรัทธาแห่งผู้คนก็หลั่งไหลมา ศรัทธาและแก้วแหวนเงินทอง ความสมบูรณ์มั่งมี เทวาลัยใหญ่ถูกสร้างขึ้น ณ ที่นั้น กาโลแก้แค้นชนชั้นที่เคยกดข่ม ย่ำยีความเป็นคนของเขาและลูก แต่ในขณะที่เขาแก้แค้เอาคืน เขาก็ทำร้ายทำลายเลือดและเนื้อของตัวเอง ทำร้ายทำลายคนประเภทเดียวกันกับเขาไปพร้อมๆ กันด้วย และโดยไม่รู้ การกระทำที่แรกนั้นหวังทำเพื่อจันทรเลขา ก็กลับกลายเหมือนเป็นการฉุดดึงเธอลงสู่นรกอีกครั้ง

การโกหกหลอกลวง อำนาจ ผลประโยชน์ ความน่าขยะแขยงต่ำทรามที่ซ่อนอยู่ในร่างที่สูงส่งดีงาม ขณะที่ต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ภายนอกนั้น ภายในใจของกาโลก็มีการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเช่นกัน แต่เมื่อขึ้นขี่บนหลังเสือแล้ว หากจะลงย่อมยากจะพ้นให้เสือกัด ในระหว่างทางแห่งการต่อสู้นั้น กาโลได้พบกับวิศวนาถ ช่างตีเหล็ก ผู้ซึ่งปลุกให้การ์มาในตัวของเขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง (หรือพูดให้ถูกต้องบอกว่าปลุกความเป็นคนของเขาให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง) และ B.10 หรือ บีเทน ชายหนุ่มผู้แสดงให้เขาเห็นว่าการต่อสู้ที่แท้จริงคืออะไร สุดท้ายแล้วนั้น กาโลและลูกหญิงจะลงจากหลังเสือได้อย่างไร

อ่านจบด้วยความประทับใจ รู้สึกทึ่งว่า นี่เป็นนิยายที่เขียนและแปลไว้มากกว่า 50 ปีแล้ว แต่ทั้งภาษา สัญลักษณ์ รวมถึงแก่น สามารถสะท้อนภาพสังคมชัดเจน สภาพสังคมที่ปัญหายังคงเดิม แม้รูปทรงพุ่มกิ่งใบอาจแปรไป แต่รากยังฝังลึกที่ตรงเดิม ทั้งยังเป็นปัญหาสากล แม้รูปแบบและความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม แต่ก็เป็นปัญหาที่ฝังรากอยู่จริงในทุกแห่งบนโลก นิยายเรื่องนี้ยังตั้งคำถามกับเราอีกมากมาย การดำเนินเรื่อง ร้อยเรียงเหตุการณ์ บรรยายภาพได้อย่างชัดเจน สะเทือนใจ

เขียนรีวิวสินค้าของคุณเอง
คุณกำลังรีวิว:คนขี่เสือ HE WHO RIDES A TIGER
คะแนนของคุณ